ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเวทีอภิปรายภารกิจพิทักษ์ รธน.

โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น 10 เม.ย.-ศาล รธน.เปิดเวทีอภิปรายภารกิจพิทักษ์ รธน. นักวิชาการ เชื่อการทำหน้าที่ของศาลฯ หลังจากนี้จะเจอความท้าทายจากทั้งคนชอบ-ไม่ชอบ แนะ ศาลฯ ควรเปลี่ยนการยุบพรรค เป็นการกำกับให้พรรคเข้มแข็ง


ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเวทีอภิปรายร่วมกันระหว่างตุลาการศาลรัฐธรมนูญ และนักวิชาการ ในหัวข้อ ”ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในโอกาส 25 ปี แห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูฐ, นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา, นายภูมิ มูลศิลป์ รองศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นายมานิตย์ จุมปา รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินรายการโดย นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

โดย นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายถึงบทบาทการพิทักษ์รัฐธรรมนูญว่า การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คือ การพิทักษ์ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดประเทศ ให้มีความมั่นคงถาวร ส่วนองค์กรใดจะมาทำหน้าที่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเมืองของประเทศนั้นๆ หรือบางประเทศ กำหนดให้มีสภาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศปากีสถาน ที่กำหนดให้มีสภาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อตีความรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติทางศาสนาอิสลามด้วย หรือการกำหนดให้มีศาลลักษณะพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่ละประเทศ ก็จะมีที่มาแตกต่างกันไป


สำหรับศาลรัฐธรรมนูญของไทย ที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น นายปัญญา ยอมรับว่า ได้รับอิทธิพลจากเยอรมนี เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผ่านคำวินิจฉัยสำคัญๆ เช่น การคุ้มครองหลักความเสมอภาคในสิทธิสตรี ที่ต้องการใช้นามสกุลของตนเอง แม้จะจดทะเบียนสมรสกับสามีแล้ว เพราะกฎหมายบังคับให้ใช้นามสกุลของสามีคู่สมรส ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำวินิจฉัยต่อคำร้องดังกล่าว ที่มีผู้ร้องยื่นรองผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในขณะนั้น รวมถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้พิการ ที่ถูกตัดสิทธิเข้าสอบข้าราชการตุลาการ, การงดเว้นโทษ กรณีที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ, การกำหนดให้ประกาศกำหนดลงโทษบุคคลที่ไม่มารายงานตัว ตามคำสั่ง คสช.ย้อนหลัง เป็นการออกคำสั่งย้อนหลัง ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ เป็นต้น จึงยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทย มีส่วนสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะอดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จนเกิดข้อถกเถียงศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ รวมถึงขั้นตอนการประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มัจจุราช ถ้ารัฐสภา ไม่ทะเลาะกัน ศาลฯ ก็ไม่ต้องชี้ขาด ซึ่งเข้าใจว่า หลายเรื่อง หลายฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หาข้อยุติ

ส่วนการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยรัฐสภา สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำได้หรือไม่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้น นายอุดม ยอมรับว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยากเข้าไปก้าวก่ายกิจการของรัฐสภา แต่กลับมีผู้ยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลฯ ก็กังวลว่า การยื่นมือเข้าไปวินิจฉัย อนาคตจะเกิดความวุ่นวาย เพราะรัฐสภา ก็เป็นที่รวมของบุคคลที่มีความหลากหลายอยู่แล้ว และศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้อยากก้าวล่วง หรือยุ่งเกี่ยว แต่รัฐธรรมนูญ ก็ได้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ขาดความเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น การพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น จึงไม่ได้ขี้ขาดแค่ตัวอักษรเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นไปของสังคม เพื่อให้สังคมเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ด้วย


นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ถึงความพยายามของรัฐบาลในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงใช้บังคับอยู่ว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใด กำหนดให้ทำได้ แต่ในประเทศไทย ก็สามารถทำได้ 2 ครั้งในปี 2489 และ 2540 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดนวัตกรรม ในการเพิ่มเพียงมาตราเดียว เพื่อกำหนดหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ จนกระทั่ง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะต้องสอบถามความเห็นจากประชาชนเสียก่อน จนเกิดการตีความว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติก่อนที่จะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ จัดการออกเสียงประชามติ เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่านวาระที่ 3 ของรัฐสภาแล้ว รวมถึงยังไม่มั่นใจว่า รัฐสภา จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดเพียงว่า รัฐสภา มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เชื่อว่า ประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะอยู่กับสังคมไปอีกระยะหนึ่ง และการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็จะอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ

นายคำนูณ ยังกล่าวถึงที่มาของวุฒิสภา ที่ส่งผลต่อการเลือกกรรมการองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า หากจะให้ที่มาองค์กรอิสระ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะไม่ตอบโจทย์ แต่การใช้วุฒิสภาคัดเลือก ก็ควรจะต้องตอบโจทย์ด้วย เพราะหากมาจากการเลือกตั้ง ก็จะต้องให้แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร มิเช่นนั้น ก็จะไม่แตกต่างจากการมีสภาเดี่ยว และมั่นใจว่า กระบวนการเลือกตั้ง สว.แบบเลือกกันเองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในบทถาวรนั้น จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก และครั้งเดียว เหมือนระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม

ขณะที่ นายภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เห็นว่า การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ 2540 ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ศาลฯ ถูกมองว่า มีการแทรกแซงการใช้อำนาจก้าวล่วงเข้ามาด้วย จึงเกิดคำถามต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ ถูกแทรกแซงโดยใคร และมีกรตั้งธงล่วงหน้าอย่างไรหรือไม่ จนมีมวลชนมากดดัน และเปิดเผยชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับ กรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีข้อสงสัยต่อการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นไปตามการตรวจสอบถ่วงดุล

ส่วนกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักอำนาจนิยมหรือไม่นั้น เห็นว่า กระบวนการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีที่มียึดโยงกับกลุ่มอำนาจ จนเกิดคำถามต่อสังคมว่า มีประเด็นใดแอบแฝงหรือไม่ และในมิติของอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ มีการตีความให้อำนาจแก่องค์กรของตนเองหรือไม่ รวมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่มีการพาดหัวข่าวที่ทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่

คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยังเห็นว่า การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะมองเพียงมิติทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีบทาทสำคัญในการพิทักษ์สิทธิของประชาชน พร้อมเห็นว่า หลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีความท้าทายในการทำหน้าที่ เมื่อสังคมมีความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งในอนาคตหากศาลรัฐธรรมนูญ จะตีความอย่างไร ฝ่ายที่เห็นด้วยก็จะชื่นชม และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็จะโจมตี

นายมานิตย์ จุมปา รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทย 26 ปี สามารถทำหน้าที่ได้ดี แต่ในมุมเฉพาะในระยะหลังที่เกี่ยวข้องกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณี การวินิจฉัยการเสนอแก้ไขกฎหมายเป็นการล้มล้างการปกครองเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แนวคิดเกี่ยวกับการป้องกันตนเองผู้ที่จะทำลายประชาธิปไตย โดยเข้ามาผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่การลากรถถังมายึดอำนาจ แต่หลักการเยอรมัน มีการเข้าสู่ระบบการเมืองด้วยวิถีประชาธิปไตย ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น จึงมีกระบวนการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่กำหนดการใช้สิทธิประชาชน หรือการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งการทำหน้าที่นี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิทักษ์รักฐธรรมนูญได้ แต่ก็จะต้องปะทะกับสังคม

เพราะในอีกมุมหนึ่ง การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามพรรคก้าวไกล ดำเนินกระบวนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น สภาผู้แทนราษฎร ก็อาจไม่รับหลักการก็ได้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นท้าทายศาลรัฐธรรมนูญว่า จะมีการตรวจสอบทุกการกระทำหรือไม่ หรือจะตรวจสอบเฉพาะย่างก้าวเฉพาะที่เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครอง พร้อมมองว่า หากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทั่วไป ศาลไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย ยกเว้นเพียงจะมีการกระทำเป็นขบวนการ ส่วนอำนาจการยุบพรรคการเมือง จะเป็นการก้าวล่วงอำนาจประชาชนที่ได้เลือกตั้งมาหรือไม่นั้น

นายมานิตย์ เห็นว่า พรรคการเมือง ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดตรงกันในการเข้ามาบริหารประเทศ จึงเห็นว่า การกระทำผิดจากสาเหตุตัวบุคคล ควรลงโทษที่เป็นตัวบุคคล ไม่ควรยุบพรรคการเมือง เพราะท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถทำให้พรรคการเมืองนั้น หายไปได้ หรือสกัดพรรคการเมืองนั้นได้ จึงเสนอให้การทำหน้าที่ของศาลจากการยุบพรรค เป็นการกำกับให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง และเห็นว่า กลไกการยุบพรรคในปัจจุบัน สามารถทำได้ง่ายเกินไป.-312.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

DSI ฝากขัง “สามารถ-แม่” พร้อมคัดค้านประกันตัว

DSI ฝากขัง “สามารถ-แม่” พร้อมคัดค้านประกันตัว ด้านแม่ตะโกนร้องขอความเป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้ง แจงเป็นเงินบุญ ปี 64 ขณะที่ “สามารถ” เผย “อยากพูด แต่พูดไม่ได้“

งด ครม.

งด ครม. ทำเนียบวันนี้ เตรียมสัญจรครั้งแรก “เชียงใหม่-เชียงราย” วันศุกร์

งด ครม. ทำเนียบวันนี้ เตรียมสัญจรครั้งแรก “เชียงใหม่-เชียงราย” ศุกร์นี้ นายกฯ ตั้งเป้าปีหน้าน้ำท่วมภาคเหนือต้องไม่เกิดอีก ด้าน ศปช. เตรียมเสนอแผนแก้อย่างเป็นระบบใน ครม.สัญจร ศุกร์นี้