กาฬสินธุ์ 14 มี.ค. – พิธีเหยาสืบสานตำนานเลี้ยงผี ตามประเพณีโบราณของชาวผู้ไท อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ สืบต่อความเชื่อจากบรรพบุรุษ เพื่อต้อนรับหมอเหยาคนใหม่ในการทำหน้าที่เพื่อธำรงอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ให้อยู่คู่สังคมสืบไป
นี่คือพิธีกรรมการเหยา หรือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษตามความเชื่อของคนเผ่าผู้ไท โดยมีคณะหมอเหยา และนักดนตรีพื้นบ้านใน จ.กาฬสินธุ์ และใกล้เคียง ที่ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม เข้าร่วมพิธีกรรมดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียง ก่อนพิธีกรรมจะเริ่ม นักดนตรีพื้นบ้านบรรเลงดนตรีเป็นทำนองท้องถิ่น ดีดพิณ เป่าแคน ฉิ่งฉับ จากนั้นคณะหมอเหยาได้เชิญผีไท้ ผีบรรพบุรุษ เข้าเทียมร่างของแต่ละคน เพื่อให้เป็นร่างทรงในการประกอบพิธีกรรม ด้วยการกินเครื่องเซ่นไหว้จำพวกมัน เผือก ฟักทอง ข้าวต้ม เหล้าพื้นบ้าน เป็นต้น
ระหว่างพิธีกรรมคณะหมอเหยาได้พูดคุยกันในภาษาที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ เป็นภาษาของผีที่ใช้สื่อสารกัน บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ตามจังหวะดนตรี มีการกระโดดโลดเต้น พร้อมถืออาวุธจำพวก มีด ธนู ที่ทำจากไม้ไผ่ เดินรอบสถานที่ตั้งเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อเชิญผีไท้ ผีบรรพบุรุษให้ลงมารับเครื่องเซ่นไหว้
นายสมพงษ์ ผิวละมุล ครูโรงเรียนบ้านคำดู่ กล่าวว่า พิธีกรรมวันนี้เรียกว่า การเหยา ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาอาการเจ็บป่วย เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งที่ทำการบูชาผีบรรพบุรุษหรือเลี้ยงผีตามความเชื่อของคนผู้ไท ในโอกาสเดียวกันนี้ ยังจัดขึ้นเพื่อต้อนรับสมาชิกที่มาทำหน้าที่ในการเหยาเลี้ยงผีคนใหม่ หลังจากมีอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ และหายจากอาการเจ็บป่วย หลังจากทำการรักษาจากหมอเหยา โดยการแพทย์แผนใหม่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ทำให้อาการเจ็บป่วยไม่ทุเลาลงจนหมดหนทางการรักษา จากนั้นได้ทำพิธีเสี่ยงทายด้วยการเหยาตามความเชื่อ
หมอเหยา บอกว่า คนนี้มีผีไท้ หรือมีผีประจำตัวมาตั้งแต่เกิด ผีไท้ต้องการให้คนนี้มาทำหน้าที่เป็นร่างทรง การเหยาจึงเป็นการรักษาอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การรักษาทางด้านจิตใจ หรือดนตรีบำบัดที่หลายท่านมีความเข้าใจ แต่เป็นพิธีกรรมที่ไม่เกี่ยวกับโรคภัยหรืออาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่สบายตัวโดยไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นเพื่อความสบายของผู้ที่เจ็บป่วยเองจึงได้มีพิธีการเหยาเกิดขึ้น โดยชาวผู้ไทจะมีความเชื่อเรื่องของผี ไม่ว่าจะเป็นผีไร่ ผีนา ผีบรรพบุรุษ ผีตาแฮก โดยส่วนตัวแล้วผู้ที่ทำหน้าที่เหยาใช่ว่าจะมีใครจะเป็นเลยไม่ได้ ต้องเกิดจากพรหมลิขิตมาแล้วเท่านั้น อยากให้มีการสืบสานต่อไป ไม่อยากให้เลือนรางไปตามกาลเวลาและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อยากให้พิธีกรรมความเชื่อนี้ให้เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์สืบทอดต่อไป ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาการไปเท่าใด อยากให้ทุกคนตระหนักไว้ว่า สิ่งที่บรรพบุรุษสั่งสมมานี้มีคุณค่า มีคุณงามความดี ที่ปลูกฝังเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ที่เป็นวัฒนธรรมทางความเชื่อ ในเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษอีกด้วย. – สำนักข่าวไทย