เบตง 28 ก.พ.-กรมทรัพย์สินทางปัญญารับลูก เตรียมขึ้นทะเบียน GI อีก 2 รายการ นายกรัฐมนตรี นำทีม ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” และ “ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา” ปลาน้ำจืดที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เตรียมขึ้นทะเบียน GI ตัวใหม่ของจังหวัดยะลา พร้อมดึงเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลิน ประธานอนุกรรมการ Soft Power ด้านอาหาร ร่วมรังสรรค์เมนูเด็ดจากปลานิลสายน้ำไหลเบตง คาดนำรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นเติบโตอย่างยั่งยืน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งผลักดันสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นสิทธิของชุมชน ผ่านการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าคุณภาพจากชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ และนำมา ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องชาวยะลา โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรปลานิลสายน้ำไหลเบตงและปลาพลวงชมพูฮาลาบาลาได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI กับท่านนายกรัฐมนตรีฯ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคำขอ โดยเชื่อมั่นว่าการยกระดับสินค้าชุมชนด้วยระบบ GI นี้จะเป็นโมเดลต้นแบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัด อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงน้ำจืดของจังหวัดยะลาให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป
ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดกิจกรรมสุดพิเศษ โดยเชิญเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟระดับมิชลิน ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาร่วมรังสรรค์เมนู “พริกขิงปลานิลสายน้ำไหลเบตง” และ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตงนึ่งมะนาวส้มจี๊ดสมุนไพรไทย” เพื่อโปรโมทสินค้าปลานิลสายน้ำไหลเบตงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และส่งมอบให้เป็นเมนูแนะนำประจำร้าน อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ในการนำปลานิลสายน้ำไหลเบตงมาเป็นวัตถุดิบในการทำเมนูต่างๆ อีกด้วย
สำหรับ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” เพาะเลี้ยงมากในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรีของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และเลี้ยงในบ่อที่มีกระแสน้ำที่ไหลตลอดเวลา ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำสูงกว่าบ่อปลาทั่วไป จึงทำให้ปลานิลสายน้ำไหลเบตงมีลักษณะเด่นคือส่วนหัวเล็ก เนื้อปลาแน่น สีขาวละมุน รสชาติหวาน ไม่มีกลิ่นโคลน ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน ราคาขาย 300 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน “ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา” เป็นปลาท้องถิ่นหายาก มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากต้นน้ำป่าฮาลาบาลา และเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มีลักษณะเด่นคือลำตัวมีสีชมพู ครีบหลังและครีบหางเป็นสีแดง เนื้อปลานุ่มมีสีขาวเหมือนสำลี รสชาติหวานอร่อย เกล็ดมีสารคลอลาเจนจึงนิยมทานทั้งเกล็ด มีราคาสูงถึง 3,000 – 3,500 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะสามารถขายได้ โดยปลาทั้ง 2 ชนิด สร้างมูลค่าการตลาดให้กับจังหวัดรวมกว่า 44 ล้านบาทต่อปี .-514-สำนักข่าวไทย