ทำเนียบ 20 ก.พ. – “ชลน่าน” มั่นใจประกาศยาบ้า 5 เม็ด ได้ผล สกัดผู้ค้ารายย่อย ชี้ ถ้าไม่สมัครใจบำบัด แค่ 1 เม็ดก็ไม่รอดตะราง แจง กม.ไม่กำหนดบำบัดผู้เสพได้กี่ครั้ง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการล่ารายชื่อ เพื่อให้มีการยกเลิกประกาศครอบครองปริมาณยาเสพติด ให้สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เนื่องจากมีการกำหนดปริมาณครอบครองยาบ้า 5 เม็ด สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ว่า เราต้องไปดูว่า เหตุผลที่เขาให้มาคืออะไร เพราะประกาศฉบับนี้ออกตามกฎหมาย ส่วนเราก็ต้องทำตามกฎหมาย และชี้แจงว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ผลเสียหากไม่มีประกาศนี้คืออะไร ซึ่งตั้งแต่ที่มีกฎหมายนี้ออกมา หากไม่มีการกำหนดปริมาณไว้ ก็จะเป็นช่องว่าง แต่ถ้ากำหนดปริมาณไว้ เพื่อแยกคนเสพออกจากคนค้า แล้วเอาเข้าสู่การบำบัดและคืนสู่สังคมก็จะแก้ปัญหาได้
“ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้มี 1,900,000 คน จะจัดการอย่างไรถ้าหากไม่เอาไปบำบัด จึงเป็นเหตุผลสำคัญกฎหมายให้ไปกำหนดในกฎกระทรวงเพื่อนำคนเหล่านี้เข้าสู่การบำบัด เดิมก็มีเรื่องครอบครองยาบ้า 15 เม็ด ตอนนี้เราปรับลดมาในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคืนโอกาสคนที่ติดแล้วไม่ให้กลับไปติดใหม่ได้”นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าว ส่วนพฤติกรรมการขายนั้น ไม่จำเป็นต้องกำหนด 5 เม็ดด้วยซ้ำ แค่ถือ 1 เม็ด เพื่อขายก็ถือว่าผิดแล้ว ยืนยันว่ากฎหมายนี้ออกมาแล้วได้ผลแน่นอน
“เรามั่นใจว่า มาตรการ หลักของกฎหมายที่เขียนไว้ และเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพื่อสกัดผู้ค้ารายย่อย เพราะส่วนใหญ่ ผู้ค้ารายย่อยจะเกิดจากผู้เสพ แล้วการกำหนดที่ 5 เม็ด นั้นผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบของกฤษฎีกา ถือว่า รอบคอบรอบด้าน ตนไม่ได้ออกเอง” นพ.ชลน่าน กล่าว
ขณะที่ ล่าสุดมีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียลว่า ประกาศดังกล่าวทำให้การซื้อขายคึกคัก คนเสพครึกครื้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเพียงคำพูด หากมีพฤติการณ์ พฤติกรรมซื้อขายติดคุกแน่นอน เจ้าของร้านที่อยู่ในคลิปที่ปรากฎนั้น อติดคุกหัวโต เพราะคุณเป็นคนขาย ส่วนที่บอกว่าครึกครื้นนั้น ก็เพียงเพื่อกลบเกลื่อน ส่วนคนที่ไปซื้อ เราให้โอกาสคุณแล้ว หากไม่สมัครใจบำบัดก็จะต้องมีโทษตามกฎหมาย ต้องมีการติดคุก แต่หากสมัครใจก็ต้องเข้ารับการบำบัด เมื่อครบเกณฑ์การบำบัดแล้วก็ไม่ต้องรับโทษ ลึกๆ เราต้องการตัดผู้ค้ารายย่อย ซึ่งผู้ค้ารายย่อยนั้นจะเริ่มจากการเสพ 1 เม็ด 3 เม็ดไปเรื่อยๆ จนมากขึ้น ไม่มีเงินซื้อเลยแปลงเป็นผู้ค้ารายย่อย ดังนั้นเราจึงตัดวงจรแต่แรก
เมื่อถามว่า สรุปการบำบัดสามารถทำได้กี่ครั้ง เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า สามารถบำบัดได้เพียง 1 ครั้ง หากกลับไปเสพซ้ำก็จะต้องรับโทษตามกฎมหาย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ระบุว่า บำบัดได้กี่ครั้ง อยู่ที่ดุลยพินิจ หากเขาตั้งใจ สมัครใจบำบัดครั้งเดียวก็น่าจะสำเร็จ แต่พฤติกรรมต่างๆ บางครั้งก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมด้วย หากกลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เปลี่ยน เราก็ต้องตามไปดูว่า เกิดจากอะไร สมควรให้โอกาสคนนั้นหรือไม่ เพราะตามกฎหมาย หากเขาสมัครใจเข้ารับการบำบัดอยู่ ก็ยังได้สิทธินั้น แต่หากมีความตั้งใจที่จะกลับไปเสพซ้ำก็มีความผิด.-313.-สำนักข่าวไทย