กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – กกร.วอนรัฐตรึงค่าไฟไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วย พร้อมเร่งรัดตั้ง กรอ.พลังงาน ร่วมแก้ปัญหาระยะยาว
นายเกรียงไกร เทียนนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) ยอมรับภาคเอกชนกังวลค่าไฟฟ้า งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% จากงวดปัจจุบันเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ที่เรียกเก็บอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางสูง การขึ้นค่าไฟฟ้า จึงเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพราะอาจนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าปลายทาง ในบางรายการในอัตรา 5-10% ดังนั้น กกร.จึงต้องการให้รัฐตรึงค่าไฟไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วย ไปก่อนจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่ และเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงาน เพื่อรวมหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว
“ยอมรับว่าค่าไฟที่จะออกในเดือนมกราคมปีหน้าในอัตรา 4.68 บาท/หน่วย นั้นสูงมาก ดังนั้นจึงวิงวอนภาครัฐช่วยพิจารณา ในฐานะ กกร.ก็ไม่อยากจะมานั่งคุยปัญหาเดิมๆ ทุก 4 เดือน ดังนั้นสิ่งที่ กกร.ได้เสนอไป ก็อยากให้ภาครัฐตอบสนอง โดยเฉพาะการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพราะจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุปรับโครงสร้างราคาพลังงาน จะได้ไม่ต้องมานั่งสอบถามกันบ่อยๆ และนอกจากนักลงทุนไทย ต่างชาติที่ตั้งฐานผลิตในไทยได้สอบถามเข้ามาบ่อย ๆว่า จะเป็นแบบนี้ทุกๆ 4 เดือนหรือ ส่วนนักลงทุน FDI หรือรายใหม่ๆ ที่กำลังติดสินใจจะเข้ามาลงทุน หลายรายก็รอเรื่องค่าไฟ เพราะเป็นต้นทุนสำคัญ เราไม่อยากเสียโอกาสตรงนี้ไป กกร.จึงเรียกร้องให้แก้ปัญหาระยะยาว ส่วนระยะสั้นก็อยากจะให้ยืนค่าไฟงวด มกราคม-เมษายน 2567 ที่ 3.99 บาท/หน่วย ไปก่อน และในช่วงต้นปีให้รีบจัดตั้ง กรอ.พลังงาน ซึ่งตนเชื่อว่าในช่วงเวลา 3-4 เดือน จะสามารถหาแนวทางที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายได้ ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ ก็เชื่อว่าจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย” นายเกรียงไกร กล่าว
แต่หากท้ายที่สุด ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 4.20 บาท/หน่วย ภาคเอกชนก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากจำใจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 5-6% ซึ่งก็อาจจะมีการสะท้อนต้นทุนในราคาขายปลายทางในบางรายการ นายเกียงไกร ยังระบุด้วยว่าในช่วงที่ค่าไฟฟ้า 3.99 บาท/หน่วย แม้ไม่ใช่เป้าหมายของภาคเอกชน แต่ภาคเอกชนก็ขอบคุณรัฐบาลเนื่องจากต้องแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่ผลิตสินค้าเดียวกัน ส่งออกประเทศเดียวกัน แต่เขามีแต้มต่อเรื่องค่าไฟฟ้า เช่น ประเทศเวียดนาม ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหน่วย ก็สามารถยืนอยู่ที่ราคานี้ได้เป็นปี ๆ แม้จะมีบางช่วงที่ระบบไฟฟ้าไม่เสถียร แต่ก็เป็นช่วงสั้น เพราะตอนนี้มีการแก้ไขให้นิ่งแล้วแล้ว ส่วนประเทศอินโดนีเซีย ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.30 บาท/หน่วย เป้าที่เราต้องการไม่ได้ต้องการให้ถูกที่สุด อยู่ระหว่าง 2.70 -3.30 บาทต่อหน่วย แต่ตอนนี้ถ้า 3.99 บาทต่อหน่วยไปก่อน อีก 4 เดือน ระหว่างรอให้มี กรอ.พลังงาน ซึ่งเอกชนจะได้รับรู้และปรับตัวก่อนล่วงหน้า ไม่ต้องรู้สึกเขย่าขวัญทุกครั้งที่ประกาศราคาจาก กกพ.ออกมา
ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัด ได้สรุปส่งให้กับส่วนกลางไปแล้ว แม้ว่าการขึ้นค่าแรงจะเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง แต่ด้วยค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น นายจ้างก็ยินยอมให้ขึ้นแม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ทั้งนี้อยากให้ยึดตามหลักไตรภาคี เพื่อให้ Win-win ทุกฝ่ายรับได้ นายจ้างรับได้ ส่วนลูกจ้างก็อยู่ได้ และเมื่อเศรษฐกิจประเทศคลี่คลาย หรือไปได้ดีกว่านี้ ก็ค่อยกลับมาว่ากันอีกครั้ง. -517-สำนักข่าวไทย