มหาวิทยาลัยรังสิต 15 ก.ค.-วงอภิปรายปฏิรูปตำรวจ เห็นด้วยการกระจายอำนาจตำรวจ แยกอำนาจการสอบสวนให้อิสระ มั่นใจรัฐบาลทำสำเร็จ
มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยสถาบันปฏิรูปประเทศ(สปท.) ร่วมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ จัดงานอภิปรายสาธารณะ “ทิศทางปฏิรูปตำรวจไทย ในรัฐบาลปัจจุบัน?” โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตและสมาชิกสปท. กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมาทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ ที่มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานกรรมการ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 5 ชุด โดยประธานคณะอนุกรรมการทั้งหมดไม่มีตำรวจเลย จึงเป็นสัญญาณของรัฐบาลว่าจะปฏิรูปได้จริง
“ผมมองว่าการกระจายอำนาจตำรวจ ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นตำรวจจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และเห็นด้วยกับการแยกอำนาจสอบสวนออกจากตำรวจไปไว้ที่กระทรวงยุติธรรม ให้แต่ละหน่วยงานมีตำรวจเป็นของตนเอง ขณะเดียวกันภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จ ยืนยันการเสนอความเห็นต่าง ๆ ไม่ใช่ฝ่ายตรงกันข้ามรัฐบาล แต่เป็นมิตรกับรัฐบาลและคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เพื่อสะท้อนมุมมองของภาคประชาชน” นายสังศิต กล่าว
พ.ต.ท.กฤษณพงษ์ ฟูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องของทุกคน ส่วนตัวเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจของตำรวจไปในระดับจังหวัด และประชาชนสามารถสะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าตำรวจได้ รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน และต้องจัดการระบบการสอบสวน ต้องพัฒนาให้โปร่งใสมากกว่าจะขึ้นตรงกับหน่วยงานใด ตลอดจนคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจควรลงพื้นที่ดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษาสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนเห็นตรงกันที่จะต้องปฏิรูปตำรวจ แบ่งหน้าที่ของตำรวจบางอย่างออกไปให้หน่วยงานอื่นในลักษณะการถ่ายโอน เพราะในกฎหมายปัจจุบันทุกกระทรวงมีตำรวจเป็นของตนเองทั้งสิ้น อาทิ เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น และการจัดการองค์กรตำรวจแบบทหารในการจัดชั้นยศ ทำให้เกิดปัญหาพอสมควร ดังนั้น ตำรวจที่จะไปสังกัดกระทรวงไม่จำเป็นต้องมียศ แต่ให้เป็นการทำหน้าที่ของพลเรือน ขณะเดียวกันอยากเสนอให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบตั้งแต่ต้นเพื่อให้เข้าใจในสำนวนคดี ไม่ใช่พิจารณาสั่งฟ้องจากสำนวนคดีของตำรวจเท่านั้น
“ที่เกิดปัญหาหลายคดีที่ตำรวจทำสำนวนมา แต่ท้ายที่สุดอัยการกลับไม่รับฟ้องคดีต่อ เชื่อว่าการปฎิรูปตำรวจครั้งนี้มีความหวังที่จะสำเร็จ เพราะนายกรัฐมนตรีรับรู้ถึงสัญญาณจากประชาชนจึงมอบนโยบายให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโดยตรง ดังนั้น การปฏิรูปเป็นการจัดรูปแบบองค์กรใหม่ ไม่ใช่ทำเพื่อขจัดการซื้อขายตำแหน่งเท่านั้น แต่มีเรื่ืองของการทำงานและโครงสร้างด้วย” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/07/1500110823211.jpg)