นครซานฟรานซิสโก 14 พ.ย.– ณ โรงแรม The Ritz Carlton ไทยพร้อมขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ย้ำกับต่างชาติ ไทยบรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน แจง Digital Wallet ช่วยวางรากฐานทางการเงินยุคใหม่
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมและกล่าวปาฐกถาเปิดงานNetworking Reception โดยมีผู้แทนภาคเอกชนไทยจาก 16 บริษัท คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และบริษัทสหรัฐฯ จากกว่า 9 สาขา อาทิ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน และ ไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น เข้าร่วมด้วย
นายกฯ กล่าวย้ำว่า “ประเทศไทยเปิดกว้าง และพร้อมเปิดรับภาคธุรกิจแล้ว” จึงนำภาคเอกชนชั้นนำของไทย พบปะกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อสาน ประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย นับว่า ไทยและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดมาอย่างยาวนานในหลายระดับและหลายมิติ ทั้งความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทย ขณะที่ด้านการลงทุน จากข้อมูลของ BOI แสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสามของไทย ด้วยเงินลงทุนรวม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายกฯ ได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวย้ำว่า ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุนและมีศักยภาพการเติบโตสูงมากในเอเชีย ด้วยแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจมหภาคที่ดี เสถียรภาพทางการเมือง การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายสำคัญ ศักยภาพ และโอกาสสำหรับภาคเอกชนสหรัฐฯดังนี้
ด้านการลงทุนที่จะผลักดันประเทศสู่ “เศรษฐกิจใหม่ (New Economy)” ที่มีนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขันและครอบคลุม ซึ่งใน 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมุ่งส่งเสริมการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) BCG (2) อุตสาหกรรมยานยนต์ (3) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (4) อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ(5) สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค ซึ่งนายกฯ เชื่อมั่นว่า เป้าหมายเหล่านี้จะสร้างโอกาสให้นักลงทุนสหรัฐฯ ในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและบริการสำหรับการดำเนินธุรกิจในเอเชีย และทั่วโลก
ด้านความยั่งยืน รัฐบาลมุ่งมั่นสร้างการเติบโตสีเขียวและยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutrality) ในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 ซึ่งความพยายามดังกล่าวสอดคล้องกับปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ผู้นำเอเปคได้รับรองเมื่อปี 2022 กับธีมการประชุมเอเปคของสหรัฐในปีนี้ “การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating a Resilient and Sustainable Future for All)
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ จุดแข็งของไทยคือการเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ในอาเซียน และใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งจากพื้นฐานที่มั่นคงนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะฐานการผลิตในภูมิภาคสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเป้าหมาย the 30@30 เพื่อผลิตรถยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการ EV แห่งชาติได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมEV 3.5 (ปี 2024-2027) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรม EV ทั้งระบบ ทั้งนี้ นโยบาย EV ของไทยดึงดูดการลงทุนเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบและสถานีชาร์จ ไทยเป็นประเทศที่ใช้รถ EV สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีจำนวน BEV ที่จดทะเบียนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ประมาณ68,000 คัน
รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความสามารถทางดิจิทัลอีกด้วย จึงได้ออกมามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ Digital Wallet วางรากฐานสําหรับระบบการชําระเงิน blockchain ทั่วประเทศและเปิดโอกาสรับการลงทุนจากต่างประเทศใน FinTech ประเทศไทย ได้จัดตั้ง HQ Biz Portal เป็นศูนย์บริการครบวงจร One-stop-service เพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลการทำงานให้บริษัทที่ต้องการจัดตั้งสํานักงานใหญ่ประจําภูมิภาคในประเทศไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ Mega Projects ปรับปรุงความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคของประเทศ หนุนโครงการLandbridge หนึ่งใน Mega Project มูลค่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หวังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งการพาณิชย์และโลจิสติกส์ .-สำนักข่าวไทย