กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – กฟน.เดินหน้านำสายส่งไฟฟ้าลงดิน ทำแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโครงการรถไฟฟ้าทำไปพร้อมกันแก้ปัญหาจราจรก้าวสู่ “มหานครไร้สาย Smart Metro” ปีหน้าเริ่มประมูลระยะ 2 วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท เล็งขยายเพิ่ม
นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ไตรมาส 3 ปี 2561 กฟน.จะเริ่มประมูลโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินมหานครแห่งอาเซียน 15 สัญญา 39 เส้นทาง ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ วงเงิน 48,000 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างเสร็จปี 2564 นอกจากนี้ กฟน.กำลังวางแผนก่อสร้างเพิ่ม เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและความสวยงาม
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟน. อยู่ระหว่างเปลี่ยนสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ระยะที่ 1 โครงการ รวม 45.4 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนโยธี ถนนเพชรบุรี ถนนรัชดาภิเษก ถนนเทียมร่วมมิตร ถนนพระราม 4 ถนนพระราม 3 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนสาทร ถนนนางลิ้นจี่ โดยมีการลงทุนส่วนนี้ประมาณ 18,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับระยะที่ 2 คือ โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินมหานครแห่งอาเซียน ทำให้โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน.จะมีระยะทางรวม 172.7 กิโลเมตร
“แผนงานเดิมนั้น กฟน.จะนำสายไฟลงใต้ดิน 260 กม.เม็ดเงิน 120,000 ล้านบาท แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอให้เริ่มทำเพียง 172.7 กิโลเมตร โดยขณะนี้ กฟน.กำลังวางแผนจะทำโครงการเพิ่ม เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยในส่วนโครงการเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ ๆ ก็จะประมูลไปพร้อม ๆ กัน ยกเว้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงเเคราย-มีนบุรี เเละสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่เป็นรูปแบบสัมปทาน ขณะนี้ กฟน.ขอเข้าไปคุยกับเอกชน เพื่อให้เกิดการก่อสร้างไปพร้อม ๆ กัน” นายเทพศักดิ์ กล่าว
ในวันนี้ กฟน ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการแผนงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จของโครงการมหานครแห่งอาเซียน” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในสังกัดจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งปัญหาการวางระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่เต็มพื้นที่ใต้ดิน รวมถึงการควบคุมผู้ประกอบการนำสายเคเบิลลงใต้ดิน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จ ลดผลกระทบต่อประชาชน ช่วยให้เกิดความปลอดภัย มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง และเป็นรากฐานการพัฒนาสู่การเป็น “มหานครไร้สาย Smart Metro”. -สำนักข่าวไทย