นนทบุรี 30 พ.ค.-รองอธิบดีกรมการค้าภายในเตรียมแผนเร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หลังเจอปัญหาสภาพอากาศร้อนจัด แถมฝนตกต่อเนื่อง รวมทั้งยอดส่งออกกุ้งไทยลดลง โดยจะใช้นำเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มาจัดสรรเหมือนกับแนวทางเดิมในปี 2564 มาใช้จ่ายบรรเทาปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง พร้อมหาจุดจำหน่ายสินค้ากุ้งในหลายพื้นที่อีกด้วย
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในจังหวัดแหล่งผลิตกุ้งสำคัญ ได้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน และพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว
โดยในช่วงตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค. และ ส.ค.-ต.ค. ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดจำนวนมาก อีกทั้งในปีนี้สภาพอากาศแปรปรวนร้อนสลับฝน ทำให้เกษตรกรต้องเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย ทำให้มีผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงทรงตัว ประกอบกับการส่งออกชะลอตัวเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง จึงส่งผลให้ราคากุ้งปรับลดลง
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวกรมการค้าภายในได้ประชุมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด แหล่งผลิตกุ้ง 32 จังหวัด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้หารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และขอให้เร่งนำประเด็นข้อเรียกร้องเสนอคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ซึ่งกรมการค้าภายใน จะได้พิจารณาขอรับจัดสรรเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) แนวทางเดียวกันกับที่ดำเนินการ ในปี 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาปัญหาดังกล่าวต่อไป
นายอุดม ศรีสมทรง กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรมีความประสงค์จะให้มีการจัดหาพื้นที่จำหน่ายกุ้ง สามารถประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการ โดยล่าสุดจังหวัดชุมพร ได้จัดหาพื้นที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองชุมพร ให้เกษตรกรนำกุ้งมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทุกวันศุกร์ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดี เกษตรกรจำหน่ายกุ้งได้ 200 กก. ในราคาเป็นที่พอใจ และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนการการแก้ปัญหาระยะยาวโดยการเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตต่างๆ นั้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ประสานผู้ประกอบการ ผู้ค้าปัจจัยการผลิตต่างๆ และจะได้จัดให้มีการเชื่อมโยงปัจจัยการผลิต ทั้งเคมีภัณฑ์และอาหารสัตว์น้ำจากผู้ผลิตให้แก่เกษตรกรโดยตรง เพื่อลดภาระต้นทุนของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วยแล้ว และจะได้ติดตามสถานการณ์ในทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากพบเห็นว่ามีการกดราคารับซื้อ หรือรับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย