กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – อธิบดีกรมชลประทานเผย วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2566 โดยให้ความสำคัญทั้งการเก็บกักน้ำและป้องกันอุทกภัยไปพร้อมกัน เหตุกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณต่ำกว่าค่าปกติ 5% จากสภาวะเอลนีโญ แต่ในเดือนส.ค.-ก.ย. มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานแถลงถึงแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 โดยระบุว่า แผนที่วางไว้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมและสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคมปัจจุบันปรากฏการณ์เอนโซอยู่ในสภาวะปกติ (Neutral) มีแนวโน้มที่จะ เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2566 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ธันวาคม 2566 ถึง กุมภาพันธ์ 2567 จะส่งผลให้ประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่วนปริมาณฝนตกทั้งปี จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม มีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2566
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและสถานการณ์ฝน โดยได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขณะนี้ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงซึ่งอาจมีปริมาณและการกระจายของฝนน้อย อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร ไว้แล้ว เพื่อช่วยลดผลกระทบ ขณะเดียวกันคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลากในห้วงที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จึงเป็นการบริหารจัดการน้ำที่เตรียมรับมือทั้งฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยควบคู่กันไป
ทั้งนี้โครงการชลประทานต่างๆ จะวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า กำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไว้ล่วงหน้า
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในภาวะฝนน้อยจากฤดูแล้งปี 2565/66 (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 30 เมษายน 2566) จากปริมาณน้ำต้นทุนที่จะจัดสรรได้ทั่วประเทศ 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ภายใต้มาตรการฤดูแล้งปี 2565/66 ของกอนช. ปัจจุบันได้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่า การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 25,200 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 9,120 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้
ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 พบว่าทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวม 10.38 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกรวม 6.35 ล้านไร่ เป็นไปตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 ที่วางไว้
พร้อมกันนี้ยังระบุว่า ในปีนี้กรมชลประทานจะเน้นเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ขอความร่วมมือเกษตรกรให้วางแผนเพาะปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและฝนตกสม่ำเสมอแล้ว จึงค่อยเพาะปลูกข้าวนาปีซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ข้าวจะเสียหาย เมื่อเกิดฝนทิ้งช่วงจึงใช้น้ำชลประทานเสริม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้งหน้า.-สำนักข่าวไทย