กรุงเทพฯ 21 เม.ย.- กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 3 พื้นที่ บางนา-ชลบุรี-ภูเก็ต ดัชนีความร้อนพุ่งถึง 54 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตรายถึงอันตรายมาก เสี่ยงเกิดภาวะลมแดด เหตุอุณหภูมิสูงร่วมกับความชื้นมาก คาดเป็นพีกของดัชนีความร้อนในฤดูร้อนนี้ จากนั้น 24-27 เม.ย. ต้องเตรียมรับพายุฤดูร้อนระหว่าง 24-27 เม.ย. ล่าสุดตรวจพบพายุลูกแรกของปี 2566 “ช้านหวู่ (SANVU)” อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากอยู่ไกลมาก
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า วันนี้ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจาก ดัชนีความร้อน (Heat Index) ที่จะสูงในระดับอันตรายถึงอันตรายมาก 3 พื้นที่ โดยสูงถึง 54 องศาเซลเซียส แม้อุณหภูมิคาดการณ์และอุณหภูมิที่ตรวจวัดได้ในระยะนี้ ไม่สูงเท่าช่วงก่อนสงกรานต์ แต่เนื่องจากมีลมใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้าปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก รวมกทม. และปริมณฑล ส่วนด้านตะวันตกของประเทศและภาคใต้มีลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ส่งผลให้ความชื้นเพิ่มขึ้น โดยในพื้นที่ที่ทั้งอุณหภูมิและความชื้นสูง จะทำให้เรารู้สึกร้อนมากขึ้น
สำหรับ “ดัชนีความร้อน” เรียกง่ายๆ ว่า อุณหภูมิที่เรารู้สึกนั่นเองได้ โดยเป็นดัชนีความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิคาดการณ์หรืออุณหภูมิตรวจวัดได้กับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ถ้าอากาศยิ่งร้อนและความชื้นยิ่งสูง อุณหภูมิที่เราสัมผัสหรือรู้สึกได้จะสูงด้วย โดยสูงกว่าอุณหภูมิคาดการณ์หรือที่ตรวจวัดได้
ผลคาดการณ์จากแบบจำลองสภาพอากาศพบว่า ดัชนีความร้อนสูงสุดวันที่ 21 เมษายน 2566 ตามรายภาคมีดังนี้
- ภาคเหนือที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 48.1 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 44.5 องศาเซลเซียส
- กทม. ที่เขตบางนา ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออกที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศาเซลเซียส
- ภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า บริเวณที่ “ดัชนีความร้อน” สูงถึง 54 องศาเซลเซียส 3 พื้นที่ทั้งเขตบางนา กทม. แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดภูเก็ตอยู่ใกล้ทะเลทำให้ความชื้นสูง ขณะที่จังหวัดเพชรบูรณ์และมหาสารคามมีความชื้นต่ำกว่า
น.ส.ชมภารี กล่าวว่า “ดัชนีความร้อน” ที่คาดการณ์ไว้ เป็นการคาดการณ์เฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ผลคาดการณ์ทั่วประเทศ แต่จำเป็นต้องเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยกรมอนามัยได้ให้ข้อมูลระดับผลกระทบจาก “ดัชนีความร้อน” ดังนี้
- 27 – 32 องศาเซลเซียส จะอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน เฝ้าระวัง ออกกำลังกายหรือใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
- 32 – 41 องศาเซลเซียส จะเกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion)
- 41 – 54 องศาเซลเซียส จะมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดอันตรายจากภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- มากกว่า 54 องศาเซลเซียส เป็นระดับที่อันตรายมาก จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke)
ทั้งนี้ คาดว่า “ดัชนีความร้อน” ที่สูงในระยะนี้ เป็นค่าคาดการณ์ที่สูงสุดแล้ว เนื่องจากเป็นปลายฤดูร้อนและจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
ส่วนสภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 21- 23 เมษายน จะร้อนและร้อนจัดต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่เนื่องจากมีลมใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้าปกคลุม ขณะที่ด้านตะวันตกของประเทศและภาคใต้มีลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมดังกล่าว
จากนั้นช่วงวันที่ 24-27 เมษายน อากาศจะแปรปรวนอีกครั้ง เนื่องจากลมพัดเปลี่ยนทิศทางเป็นลมฝ่ายใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน โดยเริ่มทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป
ล่าสุดตรวจพบการก่อตัวของพายุในมหาสมุทรแปซิฟิก ชื่อ “ช้านหวู่ (SANVU)” เป็นพายุลูกแรกของปี 2566 ตามการนับจำนวนพายุของศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (Regional Specialized Meteorological Center, RSMC)
พายุโซนร้อน “ช้านหวู่ (SANVU)” หมายถึงปะการัง ตั้งชื่อโดย เขตบริหารพิเศษ “ช้านหวู่ (SANVU)” มาเก๊า โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากอยู่ไกลมาก.-สำนักข่าวไทย