ก.คมนาคม 4 พ.ย. – นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยปัญหาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ยอมรับหลายโครงการติดปัญหาดำเนินการได้ล่าช้า เนื่องจากปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการเข้าใจของประชาชน
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและร่วมหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งวันนี้นายกรัฐมนตรีได้สอบถามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย โครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมทั้งระบบรางต่าง ๆ เพราะถือเป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลต้องการเร่งรัด ซึ่งจะมีส่วนช่วยอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ได้ติดตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมที่มีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี และจะจัดทำแผนเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ครั้งละ 5 ปี ซึ่งปี 2560 ต้องเตรียมความพร้อมดำเนินการอีกหลายโครงการที่กระทรวงคมนาคมเตรียมไว้ไม่ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการและโครงการพัฒนาระบบรางอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้หลายโครงการติดปัญหาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงคมนาคมรายงานว่ามีไม่น้อยกว่า 20 โครงการ ปัญหาความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ที่บางโครงการมีประชาชนไม่เข้าใจและไม่สนับสนุนโครงการ ทำให้โครงการเกิดยาก รวมถึงความเห็นจากภายนอกที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ มีโครงการที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ เนื่องจากประชาชนเข้าไปอาศัยบุกรุกเป็นอุปสรรคในการพัฒนา รัฐบาลยืนยันว่าไม่อยากใช้อำนาจหรือกฎหมายบังคับและไม่ต้องการเข้าไปขัดแย้งกับประชาชน โดยขอให้ประชาชนและทุกฝ่ายเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นของโครงการเหล่านี้ หากโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ไม่สามารถเกิดได้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต จึงขอให้ทุกฝ่าย สื่อมวลชน ประชาชน ช่วยเหลือกัน เพื่อสนับสนุนให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง
ส่วนคำถามว่ารัฐบาลยอมรับสภาพว่าหลายโครงการจะเกิดไม่ทันรัฐบาลนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายโครงการมีอายุมากกว่า 3-4 ปี และต้องใช้ระยะเวลามากกว่านั้น จึงตั้งเป้าหมายพยายามเริ่มดำเนินการและให้แต่ละหน่วยงานผลักดันโครงการต่อ ซึ่งงบประมาณปี 2560 จะเริ่มต้นให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย