กรุงเทพฯ 23 ธ.ค. – กกร.เปิดเวทีร่วมภาคธุรกิจ หวั่นหากขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด 1/66 กระทบธุรกิจ-อุตสาหกรรม ค่าครองชีพประชาชนพุ่ง เงินเฟ้ออาจแตะ3.5% ย้ำภาครัฐต้องเร่งแก้ เสนอตรึงค่าไฟบ้านแต่ไม่ผลักภาระไปกลุ่มอื่น-ขยายเพดานหนี้2ปีให้ กฟผ.-ปรับค่าไฟฟ้าเอฟทีแบบขั้นบันได
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. ) แถลง“ผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟและข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมการค้าและบริการ การเงิน” หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศเมื่อ 14 ธ.ค.2565 การคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่า Ft งวดที่ 1/2566 ประจำเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์/หน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่อัตรา 190.44 สตางค์/หน่วย ซึ่งการคำนวณค่า Ft ตามแนวทางนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วยนั้น
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้ติดตามสถานการณ์ความผันผวนและราคาพลังงาน รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมาโดยตลอด และจากการประชุม กกร. เมื่อ 7 ธ.ค.2565 มีมติเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft เดือนมกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้น-ลงค่าไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และโอกาสการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย การปรับค่า Ft แม้จะมีการปรับเพิ่มต่อเนื่องจนในปัจจุบันอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนรองรับได้ แต่การปรับที่จะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก3.0% อาจแตะที่ 3.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังทิศทางขาขึ้น ยิ่งจะซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น ดังนั้น นอกจากการส่งข้อเสนอไปยังภาครัฐบาลแล้ว ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา กกร. ได้ยื่นเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือนมกราคม – เมษายน 2566 แล้ว ครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่
1. ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทนและภาครัฐควรเจรจาลดค่า AP จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง
2. ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ. ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้นเป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี
3. ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า
3.1 ขอให้มีการปรับ Ft แบบขั้นบันได สำหรับผู้ใช้ไฟน้อย ก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟเยอะ ให้จัดเก็บคนละอัตรา เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2 – 3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ
3.2 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น
4. ไม่พึ่งพาจากแก๊สธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น โดยส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell เพื่อใช้เองให้มากขึ้น สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกิน กลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง.4 ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปรกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าของแผง Solar Cell และอุปกรณ์เช่น Inverter และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบ Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ
5. มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่าหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft จะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที โดยระยะสั้น ราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ระยะยาวไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก กระทบ FDI เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120%
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สะท้อนว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคค้าปลีกและบริการได้ถูกล็อกดาวน์ หลายครั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และปีนี้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งดอกเบี้ย ค่าแรงงานขั้นต่ำที่ และค่าพลังงานที่สูงขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของภาคค้าปลีกและบริการเป็นสัดส่วน 20% -50% มูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้ากว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี หากต้องปรับเพิ่มค่า Ft จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการหาพลังงานทดแทนมาเสริมเช่น การติดตั้ง Solar rooftop ใช้อุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงาน การปรับใช้แสงธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะมาทดแทนกับค่าใฟฟ้าที่สูงขึ้น จึงเสนอภาครัฐให้ทบทวนและพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้
1. ขอให้มีนโยบายตรึงราคาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการเหมือนกับตรึงราคาน้ำมันที่ผ่านมา
2. ขอให้มาตรการลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน และงดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานทดแทน
3. ขอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างการคิดค่า FT ให้สอดคล้อง และถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้บริโภค โดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ยค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ซึ่งปกติไม่เกิน5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงถึง 6-8% และก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่าไฟสัดส่วนของต้นทุนเท่ากับ 5% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ซึ่งไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ หากเป็นไปได้จึงยังไม่อยากให้ปรับขึ้นราคาไฟฟ้า และในช่วงเวลาที่ประเทศยังต้องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขอยกเลิกอัตราขั้นต่ำที่เรียกเก็บ ( minimum charge) สำหรับธุรกิจโรงแรมให้ธุรกิจได้มีโอกาสฟื้นตัว
นายสุวัฒน์ กมลพนัส ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวเสริม กลุ่มพลังงานหมุนเวียน เรียกร้องให้ภาครัฐได้ทบทวนสมมติฐานในการทำแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ใหม่ ลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้า และไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะค่าไฟฟ้าสูงเช่นนี้ โดยเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมาร่วมด้วยเพื่อให้การจ่ายไฟฟ้าเป็นราคาที่คงที่ อีกทั้งยังเป็นไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย.-สำนักข่าวไทย