กทม. 17 ก.ย.- ผู้ว่าฯ ชัชชาติ หารือ ดร.เสรี รับมือน้ำท่วม เผยกรุงเทพฯ เสี่ยงฝนหนักถี่ขึ้น เสนอตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ประสานจังหวัดใกล้เคียงรับมือน้ำท่วม ด้านกรมชลประทานเผยเขื่อนตอนบนยังรับมือได้ ยืนยันผันน้ำเหนือไม่กระทบ กทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมชลประทาน และชาวชุมชนชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ และคลองบางกอกน้อย เพื่อเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม ที่ห้องประชุมโรงเรียนกุศลศึกษา วัดชัยพฤกษมาลาฯ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการร่วมหารือได้ เป็นการแบ่งปันข้อมูลที่ทำให้เห็นถึงสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไปมีความชัดเจนขึ้นและมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงเดือนที่ผ่านมาที่มีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นผลทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยถึงการปรับยุทธศาสตร์ในการรับมือและวางแผนซึ่งมีการคุยกันถึงแผนระยะสั้นและระยะยาว และจะต้องนำเอาคนในชุมชนมาเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
ผู้ว่า กทม. ระบุว่า ที่ผ่านมาการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครจะใช้การระบายน้ำผ่านภายในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่ เช่นลงคลองพระโขนง คลองบางซื่อ คลองลาดพร้าวทำให้ทุกอย่างไหลเข้าไปที่ตรงกลาง แต่ในอนาคตที่ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น อาจจะต้องดูน้ำในภาพรวม คุยกันในแต่ละจังหวัดโดยมีกรมชลประทานเป็นตัวเชื่อมเนื่องจากหากแต่ละจังหวัดต่างคนต่างระบายน้ำอาจจะเป็นปัญหา มีการหารือกัน ซึ่งกรุงเทพมหานคร อาจจะเป็นเจ้าภาพในการหารือกับจังหวัดปริมณฑล
รศ.ดร. เสรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ของภาวะโลกร้อนทำให้กรุงเทพมหานครถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งจากฝนที่มีการคาดการณ์ว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมใหญ่มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าปริมาณฝนที่ตกใน1วัน ของพื้นที่กรุงเทพ เพิ่มขึ้น 14 – 20% และจำนวนวันที่มีฝนตกจะเพิ่มขึ้น 50 – 80% ขณะที่ เดือนตุลาคมจากข้อมูลคาดการณ์พบว่าฝนจะหนักกว่าเดือนกันยายน ทำให้จะต้องตระหนักถึงการรับมือ ขณะที่การระบายน้ำพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกอย่างเช่น ตลิ่งชัน มีฝนตกลงมา มักจะล้นขอบกำแพงริมตลิ่ง ทำให้แต่ละชุมชนต้องมีการสูบน้ำออกจากพื้นที่ลงคลองมหาสวัสดิ์และคลองบางกอกน้อย ซึ่งจะต้องบริหารจัดการเร่งสูบน้ำออกจากคลองให้ทันในช่วงที่มีฝนตกหนัก
รศ.ดร. เสรี ระบุว่า ได้มีข้อเสนอจากต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เพื่อรับมือน้ำท่วม โดยระยะสั้น ต้องมีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าโดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และให้ผู้อำนวยการเขต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ส่วนหน้า ติดตามและประสานผลกระทบติดตามและประสานกับหน่วยงานอื่นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนระยะกลางและระยะยาว ให้ผู้อำนวยการเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินร่วมกับชุมชน ภาคประชาชนเพื่อหาพื้นที่หน่วงน้ำพื้นที่สีเขียว พื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่ระบายน้ำในพื้นที่ รวมทั้งจะต้องมีการประเมินภาพรวมการดำเนินการระหว่างเขตเพื่อชี้แจงต่อประชาชน จะต้องมีการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อลดผลกระทบกับคนที่อยู่ปลายน้ำ และเตรียมการป้องกันพื้นที่ชายฝั่งและระดับน้ำทะเลหนุนสูง ขึ้นในอนาคตให้เป็นวาระแห่งชาติ
ด้าน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ขนาดนี้เขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีพื้นที่ในการรับน้ำอีก 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปี 54 ในตอนนั้นเหลือพื้นที่รับน้ำไม่ถึง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเรื่องฝนเทียบกันระหว่างปี 54 และปี 65 จะเห็นว่าปีนี้ ฝนทางภาคเหนือและภาคกลางต่ำกว่าฝนที่ตกเมื่อปี 54 รวมทั้งปีนี้ยังไม่มีพายุเข้าสู่ประเทศไทยจึงต้องมีการเฝ้าระวังปลายเดือนกันยายนนี้จะมีพายุหรือไม่
นายธเนศร์ ยืนยันว่าน้ำเหนือที่จะไหลลงมา กรมชลประทานได้มีการตัดยอดน้ำก่อนที่จะลงมาสู่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้หมด ให้เหลือเฉพาะการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้กรมชลประทานยังเร่งระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่รอยต่อ เช่นฝั่งตะวันออกที่ลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี ซึ่งปัจจุบันยังมีน้ำในพื้นที่จำนวนมาก ทางกรมชลประทานจึงได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำลงสู่คลองย่อยไปสู่คลองใหญ่ ทำให้น้ำในคลองประเวศที่รับน้ำจากลาดกระบังได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากฝนไม่ตก 3-4 วันนี้ จะสามารถระบายน้ำลงสู่คลองได้ทั้งหมด
โดยหลังจากประชุมหารือเสร็จสิ้นผู้ว่าฯ กทม.และคณะ ได้ลงเรือเพื่อสำรวจคลองมหาสวัสดิ์และคลองบางกอกน้อยเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร .- สำนักข่าวไทย