เจนีวา 24 มี.ค.- องค์การอนามัยโลกเริ่มการทดลองระดับโลกกับตัวยา 4 ขนานที่มีอยู่ในปัจจุบันและระบุชื่อไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อหาทางรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมากขึ้น เพราะการพัฒนายาตัวใหม่อาจต้องใช้เวลานานหลายปี
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า การทดลองระดับโลกดังกล่าวใช้ชื่อว่า Solidarity ประกอบด้วย เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าแล้วให้ใช้รักษาโรคอีโบลา ยาสูตรผสมที่ใช้ต้านไวรัสเอชไอวีระหว่างโลปินาเวียร์ (lopinavir) กับริโทนาเวียร์ (ritonavir) ยาสูตรผสมระหว่างโลปินาเวียร์กับริโทนาเวียร์ที่เพิ่มอินเตอเฟอรอนเบต้า และคลอโรควินที่ใช้ต้านโรคมาลาเรีย
ยาเรมเดซิเวียร์ได้รับการพูดถึงว่าค่อนข้างมีความหวัง และกำลังมีการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่อยู่ 5 การทดลอง ซึ่งจะทราบผลได้ 2 การทดลองในต้นเดือนหน้า เริ่มมีการใช้ยาตัวนี้ครั้งแรกกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักในจีนแผ่นดินใหญ่ราวเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นขยายไปอีกหลายประเทศ ความต้องการใช้เริ่มสูงมากจนผู้ผลิตแจ้งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะระงับการจ่ายยาตัวนี้ให้แก่ผู้ป่วยใหม่เป็นการชั่วคราว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐหรือซีดีซี (CDC) เผยว่า ยาที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนานนี้มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวาง และสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ อย่างไรก็ดี เว็บไซต์องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ผลการทดลองรักษาอีโบลาที่ผ่านมาพบว่า อาจทำให้ตับเป็นพิษได้
ด้านยาคลอโรควิน คณะนักวิจัยในสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส Sars-CoV-2 ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของไวรัสที่ทำให้เป็นโรคโควิด-19 เมื่อทดลองกับเซลล์มนุษย์ในห้องทดลอง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจจีนชี้ว่า ปลอดภัยเพราะได้รับอนุญาตให้ใช้รักษามาลาเรียแล้ว แต่ซีดีซียืนยันว่า ยังไม่อนุมัติให้ใช้รักษาโควิด-19 และต้องทดสอบเพิ่มเติม ขณะที่ยาสูตรผสมโลปินาเวียร์กับริโทนาเวียร์ โรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่นเผยว่า ได้ผลไม่ต่างไปจากการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานทั่วไป
ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ซึ่งเป็นยาต้านไข้หวัดใหญ่ที่ฟูจิฟิล์มโตยามาเคมิคัลของญี่ปุนพัฒนาขึ้นนั้น ผลการทดลองรักษาผู้ป่วยในอู่ฮั่นและเซินเจิ้นของจีนพบว่าได้ผลอย่างเห็นได้ชัดและมีความปลอดภัยสูง แต่ต้องทดสอบเพิ่มเติมก่อนทำการทดลองทางคลินิกต่อไป และยาขนานนี้ไม่ได้อยู่ในโครงการทดลองขององค์การอนามัยโลกแต่อย่างใด.- สำนักข่าวไทย