ลอนดอน 24 ก.ย.- ทางการอังกฤษแจ้งว่า พาชาวอังกฤษที่ตกค้างอยู่ตามประเทศต่าง ๆ กลับบ้านได้แล้วร้อยละ 10 หลังจากบริษัทท่องเที่ยวเก่าแก่ที่สุดของประเทศประกาศล้มละลายเมื่อวันอาทิตย์ ด้านสื่อและนายกรัฐมนตรีอังกฤษตั้งคำถามว่าเหตุใดผู้บริหารจึงได้ค่าจ้างอู้ฟู่ทั้งที่ธุรกิจย่ำแย่
สำนักงานการบินพลเรือนอังกฤษเผยว่า มีชาวอังกฤษที่เป็นลูกค้าของโทมัสคุกตกค้างตามประเทศต่าง ๆ ราว 150,000 คน ทางการพากลับประเทศแล้ว 14,700 คนเมื่อวันจันทร์ และจะพากลับอีก 16,500 คนในวันนี้ การนำคนกลับประเทศครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ทางการจะพยายามลดปัญหาและความไม่สะดวกให้เหลือน้อยที่สุด โดยจะพากลับตามกำหนดเดินทางเดิมหรือหลังจากนั้นไม่นานจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลาพักผ่อนท่องเที่ยวตามที่ตั้งใจไว้ โทมัสคุกที่ก่อตั้งมานาน 178 ปีประกาศล้มละลายเพราะหาเงิน 200 ล้านปอนด์ (ราว 7,602 ล้านบาท) ไม่ได้ตามที่เจ้าหนี้ขีดเส้นตาย ทำให้ลูกค้าทุกสัญชาติที่ใช้บริการท่องเที่ยวของบริษัทนี้ตกค้างตามที่ท่องเที่ยวทั่วโลกรวมทั้งหมด 600,000 คน
ขณะเดียวกันเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจ่ายเงินก้อนโตให้ผู้บริหารทั้งที่บริษัทมีภาระหนี้สิน หนังสือพิมพ์เดอะซันรายงานว่า อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ 5 คนหลังสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ได้เงินเดือนและโบนัสรวมกัน 47 ล้านปอนด์ (ราว 1,787 ล้านบาท) ซีอีโอคนสุดท้ายคือนายปีเตอร์ แฟงเฮาเซอร์ที่แถลงขอโทษเมื่อวันจันทร์ได้ค่าตอบแทน 8.4 ล้านปอนด์ (ราว 319 ล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2557 นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษพูดถึงเรื่องนี้ระหว่างไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์กว่า เหตุใดผู้บริหารและคณะกรรมการจึงให้เงินก้อนโตแก่ตัวเองทั้งที่ธุรกิจกำลังดิ่งเหว เขาคิดว่าควรมีระบบที่จะทำให้บริษัทท่องเที่ยวทำประกันกรณีล้มละลาย.-สำนักข่าวไทย