ฮ่องกง 5 ก.ย.- เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ของฮ่องกงระบุว่า หลายประเทศได้อานิสงส์จากการที่จีนเก็บภาษีอาหารนำเข้าจากสหรัฐ เพราะได้กลายเป็นผู้ส่งออกอาหารเข้าไปป้อนผู้บริโภค 1,400 ล้านคนในตลาดจีนแทน
เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ในรัฐเมนของสหรัฐว่า จีนเคยเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับสองของรัฐนี้ ยอดนำเข้าช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 169 จาก 128.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,928 ล้านบาท) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 แต่เมื่อสองประเทศเริ่มใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้กันตั้งแต่ปีก่อน ยอดส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์สหรัฐไปจีนลดลงถึงร้อยละ 80 ในปีที่แล้วทั้งปี ขณะเดียวกันช่วงครึ่งแรกของปีนี้จีนนำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์จากแคนาดาเท่ากับยอดนำเข้าของปีที่แล้วทั้งปี เพราะกุ้งจากรัฐนิวบรันสวิกและรัฐโนวาสโกเชียของแคนาดาเป็นพันธุ์เดียวกับกุ้งจากรัฐเมนของสหรัฐ สถานการณ์เลวร้ายลงอีกเมื่อจีนเก็บภาษีสหรัฐอีกร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน กุ้งล็อบสเตอร์แช่แข็งจากรัฐเมนถูกจีนเก็บเสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45
เช่นเดียวกับถั่วเหลืองสหรัฐที่ถูกจีนเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 33 เทียบกับถั่วเหลืองบราซิลและอาร์เจนตินาที่เสียภาษีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561/2562 บราซิลครองส่วนแบ่งตลาดถั่วเหลืองในจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77 ขณะที่สหรัฐมีส่วนแบ่งลดลงเหลือร้อยละ 10 เท่านั้น แป้งข้าวสาลี ธัญพืช และเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐถูกจีนเก็บภาษีสูงสุดร้อยละ 90 เนื้อหมูแช่แข็งถูกเก็บเพิ่มเป็นร้อยละ 72 ประโยชน์ไปตกกับประเทศในยุโรปโดยเฉพาะสเปนและเยอรมนี เพราะโรคอหิวาต์แอฟริกันสุกรระบาดทำให้จำนวนสุกรในจีนลดลงถึงครึ่งหนึ่งภายในสิ้นปีนี้ จึงมีความต้องการนำเข้าจำนวนมากเพราะเนื้อหมูเป็นอาหารหลักของชาวจีน
รายงานเดือนมิถุนายนของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 จีนขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐไปอยู่ที่ร้อยละ 20.7 โดยเฉลี่ย แต่ได้ลดภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นทั่วโลกลงเหลือร้อยละ 6.7 โดยเฉลี่ย ทั้งที่ก่อนหน้านี้จีนเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั่วโลกเฉลี่ยเท่ากันที่ร้อยละ 8.- สำนักข่าวไทย