27 ก.ค.-นักวิจัยชี้จำนวนสเปิร์มในเพศชายในหลายภูมิภาคทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ลดลงถึงกว่าครึ่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เตือนหากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไป มนุษย์อาจถึงคราวสูญพันธุ์
งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสารเจอร์นัล ฮิวแมน รีโปรดักชั่น อัพเดต ระบุว่าปริมาณความหนาแน่นเข้มข้นของเชื้อสเปิร์มในน้ำอสุจิ ในกลุ่มตัวอย่างผู้ชายแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากการเฝ้าสังเกตและวิจัยมา 40 ปี จนเสี่ยงกระทบภาวะเจริญพันธุ์ การวิจัยเป็นการเก็บข้อมูลจากผู้ชายเกือบ 43,000 คน ช่วงระหว่างปี 2516-2554 พบว่าความหนาแน่นเข้มข้นของสเปิร์มในน้ำอสุจิ ลดลงถึง 52.4% หรือจากจำนวนสเปิร์ม 99 ล้านตัว ลงมาเหลือ 47 ล้านตัว/น้ำอสุจิ 1 มิลลิลิตร แต่ยังถือว่าอยู่เหนือจุดที่องค์การอนามัยโลกพิจารณาว่าเป็นปกติ คือ มีจำนวนสเปิร์มระหว่าง 15-200 ล้านตัว/น้ำอสุจิ 1 มิลลิลิตร
อย่างไรก็ตาม ไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผู้ชายในภูมิภาคเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา มีแนวโน้มจำนวนสเปิร์มลดลงแต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องนี้คณะผู้วิจัยอธิบายว่า อาจเป็นเพราะในอดีตมีผู้ทำการศึกษาในภูมิภาคเหล่านี้น้อยครั้ง ทำให้ไม่ทราบถึงแนวโน้มที่แท้จริง ซึ่งในปัจจุบันอาจกำลังเป็นไปตามแนวโน้มเดียวกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็เป็นได้ ทั้งนี้ จำนวนตัวสเปิร์มที่ลดลง นอกจากกระทบภาวะเจริญพันธุ์แล้ว อาจเป็นสัญญาณบอกปัญหาสุขภาพที่เกิดปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีจากยาฆ่าแมลงและพลาสติก โรคเครียด สูบบุหรี่ การกินอาหารมีโภชนาการน้อย หรือแม้แต่การดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือมากเกินไป
อย่างไรก็ดี มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นแย้งว่า จะสรุปเรื่องนี้เลยไม่ได้ เพราะการศึกษาเรื่องเดียวกันก่อนหน้านี้ได้ผลลัพธ์แตกต่างกัน และใช้วิธีการศึกษาแตกต่างกัน ส่วนวิธีดีที่สุดเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงจำนวนความเข้มข้นและหนาแน่นของตัวสเปิร์ม คือ ต้องศึกษาผ่านการตรวจสอบระยะยาวในกลุ่มผู้ชายที่สุขภาพแข็งแรง.-สำนักข่าวไทย