ปารีส 2 มี.ค. – การศึกษาใหม่พบว่า กระดาษชำระที่ใช้ในห้องส้วมเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สารเคมีตลอดกาล’ (forever chemicals) อย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ที่จะไปอยู่ในน้ำทิ้งทั่วโลกและยังอาจจะไปปนเปื้อนในพื้นดินได้ด้วย
สารเคมี “เปอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล” (Per- and Polyfluoroalkyl Substances) หรือ พีเอฟเอเอส หรือที่เรียกว่า สารเคมีตลอดกาล เป็นกลุ่มสารเคมีที่ใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เช่น เครื่องสำอาง เครื่องครัวที่อาหารไม่ติดเวลาปรุงอาหาร และเสื้อผ้ากันน้ำ เป็นต้น สารพีเอฟเอเอส มีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหลายประเภท โรคหัวใจ ปัญหาการเจริญพันธุ์และความบกพร่องด้านพัฒนาการในเด็ก ที่เรียกว่าสารเคมีตลอดกาลเนื่องจากจะคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายตลอดไป
วาสาร “เอกสารทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี” (Environmental Science and Technology Letters) เผยแพร่ผลการศึกษาใหม่เมื่อวานนี้ที่ระบุว่า กระดาษชำระในห้องน้ำอาจจะเป็นแหล่งที่มาสำคัญแบบไม่คาดคิดที่ทำให้มีสารพีเอฟเอเอส ในระบบบ้ำบัดน้ำเสีย นักวิจัยกล่าวว่า การลด พีเอฟเอเส ในน้ำทิ้งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวมีอันตรายมาก นักวิจัยระบุว่า น้ำทิ้งและตะกอนจากน้ำทิ้งมักจะถูกนำไปใช้ใหม่สำหรับระบบชลประทานและ/หรือนำไปราดบนผิวดิน แต่ผลการวิจัยแสดงให้เห้นว่า วิธีการทั้งสองแบบ มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเนื่องจากจะทำให้สัมผัสกับพีเอฟเอเอสได้ ผู้ผลิตบางรายเพิ่มสารพีเอฟเอเอสในตอนที่ทำให้ไม้กลายเป็นเยื่อกระดาษ ซึ่งสารเคมีอาจจะปนเปื้อนไปในผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่เป็นกระดาษชำระได้ การรีไซเคิลกระดาษชำระ อาจจะทำร่วมกับเส้นใยที่มาจากวัตถุดิบที่มีสารพีเอฟเอเอส
นักวิจัยเก็บตัวอย่างกระดาษชำระที่วางจำหน่ายในอเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา แอฟริกา และยุโรปตะวันตก และตัวอย่างน้ำเสียจากโรงงานบำบัดน้ำเสียในสหรัฐ นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมถึงการวัดระดับพีเอฟเอเอสในน้ำเสียและการใช้กระดาษชำระต่อคนในบางประเทศ ซึ่งพบว่า กระดาษชำระมีส่วนทำให้เกิดพีเอฟเอเอสร้อยละ 4 ในสหรัฐและแคนาดา ร้อยละ 35 ในสวีเดน และถึงร้อยละ 89 ในฝรั่งเศส ตัวเลขจะต่ำในอเมริกาเหนือ เพราะผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มีความรับผิดชอบในพีเอฟเอเอสในน้ำทิ้ง เช่น เครื่องสำอาง สิ่งทอหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร.-สำนักข่าวไทย