ทำเนียบรัฐบาล 4 ต.ค.- ศบค.พอใจตัวเลขติดเชื้อโควิดต่ำกว่าหมื่น ชี้แม้กลับขึ้นไปเกินหมื่นเล็กน้อย ก็ยอมรับได้ แลกกับการผ่อนคลายให้ประชาชน-ผู้ประกอบการใช้ชีวิตปกติ แต่ห่วง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตัวเลขสวนทาง
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ (4 ต.ค.) เพิ่มขึ้น 9,930 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,615,229 ราย หายป่วยเพิ่ม 12,336 ราย รวมหายป่วยแล้ว 1,520,503 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 109,748 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,071 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 719 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 97 คน ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 17,111 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 – 4 ตุลาคม 2564 จำนวน 1,618,499 ราย โดยผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น 9,930 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 9,561 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 8,954 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 607 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 362 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 7 ราย
โดยตัวเลขติดเชื้อวันนี้ (4 ต.ค.) อาจทำให้หลายคนสบายใจ แต่เพิ่งผ่านการผ่อนคลายตามมาตรการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม จึงคาดการณ์ว่า ตัวเลขอาจขยับขึ้นสูงเกิน 10,000 รายได้ แต่หากเกิน 10,000 รายเล็กน้อย ก็เป็นในทิศทางที่สาธารณสุขสามารถยอมรับได้ เพราะทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ

ทั้งนี้ แม้ภาพรวมดีขึ้น แต่ ศบค.ยังเป็นห่วงผู้ติดเชื้อในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งวันนี้ (4 ต.ค.) มีผู้ติดเชื้อ 1,968 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ ใกล้เคียงกับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีผู้ติดเชื้อร้อยละ 21 แต่ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้เสียชีวิตในพื้นที่ภาคใต้มี 27 ราย และเริ่มมีรายงานผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวที่อาจติดจากสถานที่ทำงาน หรือเดินทางไปในสถานที่เสี่ยง จึงขอฝากไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เข้มงวดมาตรการการสาธารณสุข
นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีร้านอาหารเปิดเกินเวลา และลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใส่แก้วพลาสติก จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับมาตรการด้วย
ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ภาคใต้ ยังพบว่า ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีจำนวนต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ขอให้เพิ่มศักยภาพ ให้หน่วยงานในพื้นที่ โรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ช่วยระดมค้นหาผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้สูงอายุ ให้เข้ามารับวัคซีนตามเป้าหมาย สำหรับยอดการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 55,150,481 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 32,987,918 ราย, เข็มที่ 2 จำนวน 20,696,791 ราย, เข็มที่ 3 จำนวน 1,465,772 ราย
ขณะที่วันนี้ (4 ต.ค.) เป็นวันแรกของการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน มีผู้ลงทะเบียนสมัครใจกว่า 3.5 ล้านคน จะดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมเน้นย้ำทุกสถานที่ฉีดวัคซีนให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข หรือมาตรการระยะห่าง ดูแลเรื่องความสะอาด ป้องกันการแพร่ระบาด เพื่อให้เป็นโรงเรียนปลอดโควิด ทั้งนี้ หากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดการณ์ ก็อาจจะสามารถเปิดภาคเรียนพร้อมกันได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้ มีรายงานพบคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานในจังหวัดชลบุรี สงขลา และสมุทรปราการ เรือนจำจังหวัดพัทลุง แคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม. ซึ่งได้เข้าไปตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างแล้ว แม้บางแคมป์ไม่มีการแพร่ระบาด แต่ก็เฝ้าระวังสุ่มตรวจเป็นระยะ รวมทั้งสุ่มตรวจตลาด 5 แห่งใน กทม. พบรายงานผู้ติดเชื้อ 75 ราย จึงต้องฝากไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่อาจมีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในตลาด หรือแคมป์คนงานก่อสร้าง หากพบผู้ป่วยให้รีบแยกออกมารักษาให้ทันท่วงที
ทั้งนี้ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นห่วงแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลใดๆ ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา โดยมีการหารือกับโรงพยาบาลในสังกัด กทม. สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาตามมาตรฐาน รวมถึงการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าวก็จะต้องไม่เลือกปฏิบัติเช่นกัน ส่วนการเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งในส่วนของแรงงานและนายจ้าง และผู้ที่นำเข้ามา.-สำนักข่าวไทย