ทำเนียบรัฐบาล 21 มิ.ย.- ศบค. เผยป่วยโควิดคลัสเตอร์ยะลา 402 ราย กระจายแล้ว 11 จังหวัด ขณะกรุงเทพฯ ปริมณฑล ยังพบคลัสเตอร์ใหม่รายวัน
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ว่า วันนี้ (21 มิ.ย.) กรุงเทพฯ ยังคงมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 624 ราย และพบคลัสเตอร์ใหม่ โรงงานทำลูกชิ้น ย่านวงเวียน 22 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 26 ราย จากการตรวจ 37 ราย จังหวัดสมุทรปราการ พบคลัสเตอร์ใหม่ ที่คอนโดมิเนียม อำเภอเมืองสมุทรปราการ 11 ราย, เขตอุตสาหกรรมบางปู 38 ราย, บริษัทระบบน้ำการเกษตร พระสมุทรเจดีย์ 20 ราย ส่วนจังหวัดนครปฐม โรงงานเสื้อผ้า 189 ราย จังหวัดสมุทรสาคร โรงงานสิ่งทอ 6 ราย โรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง 11 ราย จังหวัดนนทบุรี บริษัทก่อสร้าง ที่ปากเกร็ด 40 ราย จังหวัดสระบุรี โรงเรียนตำรวจ 16 ราย จังหวัดระยอง ที่ฟาร์มเห็ด 11 รายและจังหวัดฉะเชิงเทรา บริษัทเชื่อมโลหะ 8 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรณีคลัสเตอร์ ที่จังหวัดยะลา นพ.สงกรานต์ ไหมชุม สาธารณสุขจังหวัด ได้รายงานที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ covid-19 กระทรวงสาธารณสุข eoc เช้าวันนี้ กรณีชุมชนมัรกัส บ้านเกาะยานิ จังหวัดยะลา ซึ่งในชุมชนมีทั้งโรงเรียน สถานประกอบศาสนกิจ รายงานพบผู้ติดเชื้อยืนยัน 402 ราย และแพร่กระจายไปยัง 11 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สตูล สงขลา กระบี่ พัทลุง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา และตรัง ซึ่งกรมควบคุมโรค รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายแรก วันที่ 9 มิถุนายน แต่จากการสอบสวนโรค พบว่าผู้ติดเชื้อรายแรกน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 29 พฤษภาคม แต่ขณะนั้นยังไม่ได้มีรายงานเป็นคลัสเตอร์ โดยในชุมชนมีประชากรประมาณ 3,000-4,000 คน เป็นนักเรียนประมาณ 500 คน มาจากในพื้นที่ 17 จังหวัด ซึ่งไทม์ไลน์พบว่า นักเรียนที่ติดเชื้อมีพฤติกรรมการรวมกลุ่มทานอาหารร่วมกัน ร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนา โดยไม่สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย มีการใช้แก้วน้ำร่วมกัน ทั้งนี้ชุมชนได้ปิดโรงเรียนและพื้นที่เสี่ยง มีการค้นหาในชุมชนเพื่อหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ พร้อมออกประกาศในพื้นที่แนะนำให้ผู้ที่สงสัยเกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือบุคคลในชุมชน รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครองในชุมชน เพื่อตรวจหาเชื้อ และรับคำแนะนำการเฝ้าระวังมาตรการ รวมถึงเอกสารแจ้งเตือนทุกจังหวัดใกล้เคียง
ที่ประชุม ศบค. ยังได้หารือถึงกรณีของโรงเรียนที่ปิดตัวลงในหลายจังหวัดว่า ทางโรงเรียนควรจะหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนที่จะปิด และจะต้องมีมาตรการดูแล ทำความเข้าใจเด็กและผู้ปกครอง รวมทั้งพื้นที่จังหวัดปลายทางที่นักเรียนจะต้องเดินทางกลับบ้าน โดยกรมควบคุมโรคเสนอว่า จะต้องมีคำแนะนำ ให้ผู้ที่มีสัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่อนุญาตให้ไปพบปะรวมกลุ่มกับญาติ ครอบครัว ตลาด ชุมชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งไปยังจังหวัด ต้นทางและปลายทาง
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงช่วงเทศกาลวันหยุดอีดิ้ลอัฎฮา ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองของชาวไทยมุสลิม อาจมีการจัดเลี้ยง การรวมกลุ่ม การเดินทางข้ามจังหวัด จึงขอให้ติดตามประกาศทางจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ที่ประชุม ศบค. ยังหารือข้อกำหนดออกตามประกาศมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ฉบับที่ 29 เรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกนอกเคหสถาน เจ้าหน้าที่จะตักเตือน และกำหนดมาตรการปรับต่อไป ข้อยกเว้นกิจการที่มีความจำเป็น ที่ กสทช. เสนอเข้ามา เช่น กิจการวิทยุโทรทัศน์ การถ่ายทำภาพยนตร์ ศบค. ผ่อนผันให้ดำเนินกิจกรรมได้ตามความจำเป็น สามารถทำได้ภายใต้มาตรการที่ประกาศกำหนด โดยกำหนดจำนวนบุคคลเข้าร่วม
ส่วนการกำหนดพื้นที่สถานการณ์ แบ่งออกเป็น 4 สี คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเลือดหมู, พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง, พื้นที่ควบคุมสีส้ม, พื้นที่เฝ้าระวังสูง สีเหลือง โดยทุกสียังต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกเคหสถาน การเปิดร้านอาหาร พื้นที่สีแดงเลือดหมูอนุญาตไม่เกิน 50 คน เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00 น. ห้องปรับอากาศบริการได้ไม่เกินร้อยละ 50, สีแดง 100 คน เปิดได้ไม่เกิน 23.00 น. , ส่วนที่เหลือเปิดบริการได้ตามปกติ ได้แก่ สีส้ม 150 คน, สีเหลือง 200 คน, สีเขียวไม่เกิน 300 คน
ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะถือว่ายังมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ จึงอยากฝากผู้ประกอบการให้เสนอว่า มีมาตรการดูแลลูกค้าอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัย ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ใดกิจการกิจกรรมใดหละหลวม ก็จะมีการทบทวนมาตรการอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย