สธ. 8 เม.ย. – ปลัด สธ. รับควบคุมโควิดคลัสเตอร์สถานบันเทิงทำได้ยาก เพราะกระจายเป็นวงกว้าง ย้ำมาตรการป้องกันตนเองต้องเคร่งครัด สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เผยหลังสงกรานต์เตรียมทบทวนมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮม หรือหยุดเชื้อเพื่อชาติ และให้คำนิยามการระบาดรอบนี้ใหม่ ด้าน ผอ.สถาบันวัคซีนฯ แจงรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันในแอสตราฯ เกิดต่ำ และมีปัจจัยของเชื้อชาติเกี่ยวข้อง
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ยอมรับสถานการณ์การระบาดรอบนี้จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ควบคุมยากที่สุด ไม่เหมือน จ.สมุทรสาคร ที่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด แต่คลัสเตอร์สถานบันเทิง การแพร่กระจายของโรคในครั้งนี้เป็นวงกว้าง ต้องดูการดำเนินการควบคุมโรคของ กทม. เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง มากกว่า 1-2 เดือน ส่วนในต่างจังหวัด คาดว่าประมาณ 1-2 เดือน สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ ยังไม่ได้ห้ามการเดินทาง เพราะเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ต้องการกลับบ้านไปเจอครอบครัว หรือคนที่รัก หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ไม่ได้กลับ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังไม่มีการทบทวนว่าจะกลับมาใช้มาตรการเวิร์กฟอร์มโฮม หรือการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ หรือไม่ คงต้องรอให้กลับมาหลังจากเทศกาลสงกรานต์ก่อน ส่วนมาตรการป้องกันตนเอง ขอเน้นย้ำว่า ต้องเคร่งครัดมาตรการและอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่าง หมั่นล้างมือ และเตรียมสรุปว่าจะเรียกการระบาดครั้งนี้ว่า ระบาดใหม่ หรือระบาดระลอก 3 เพราะเป็นคลัสเตอร์ที่มาจากสถานบันเทิง ส่วนเรื่องการเปิดเผยไทม์ไลน์ เพื่อควบคุมโรคนั้น ไม่จำเป็นต้องรอประวัติ หรือไทม์ไลน์จากผู้ติดเชื้ออย่างเดียว แต่ทุกครั้งที่พบการติดเชื้อจะใช้วิธีตีกรอบและเข้าไปควบคุมแทน
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.ไม่เคยปิดกั้นการขึ้นทะเบียนวัคซีน โดยขณะนี้มี 3 วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนบริษัทอื่นๆ ติดต่อมา แต่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียน
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับกรณีรายงานจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) เกี่ยวกับกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา ทั้ง 2 หน่วยงาน สรุปว่า เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก อัตรา 2-4 ต่อล้านการฉีด นอกจากนี้ อัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันยังสัมพันธ์กับเชื้อชาติและวิถีชีวิตของประชาชนด้วย โดยประเทศไทยและประเทศในเอเชีย มีอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าประเทศในยุโรป
นพ.นคร กล่าวอีกว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ อย. จะติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด รวมถึงขอข้อมูลการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศอื่นๆ มาประกอบด้วย ซึ่งข้อมูลจะเพิ่มเติมมากขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำให้หยุดฉีด และอังกฤษและประเทศในยุโรปมีการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้วถึง 40 ล้านโดส ส่วนเรื่องของการปรับปรุงฉลากวัคซีน ทางแอสตราฯ ในไทยก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับต่างประเทศ. – สำนักข่าวไทย