ทำเนียบรัฐบาล 22 มี.ค.- ศบค. พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 73 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ขณะที่สมุทรสาคร ภาพรวมดีขึ้นเตรียมเสนอมาตรการผ่อนคลายเพิ่ม แต่ยังคงโรงพยาบาลสนามไว้อีก 1-2 ปี ส่วนศูนย์กักตัวบางเขน-สวนพลู งดรับผู้กักตัวใหม่ หลังพบผู้ติดเชื้อ ยอดพุ่ง 297 คน
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 73 คน แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 66 คน และติดเชื้อจากต่างประเทศ 7 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22 คน จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 44 คน ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 23,639 คน หายป่วยแล้ว 22,486 คน รักษาตัวอยู่ 1,122 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 91 ราย
โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 91 เป็นเพศชายอายุ 60 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งปอดระยะสุดท้าย มีประวัติอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเมื่อ 14 มีนาคม เข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก และ 15 มีนาคม มีอาหารหายใจเหนื่อยหอบ เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลเอกชน ใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์วินิจฉัยเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง และยืนยันตรวจพบเชื้อโควิด-19 และ 18 มีนาคม หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำการกู้ชีพและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก 123,850,904 คน ยอดผู้เสียชีวิต 2,727,428 คน ส่วนประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 116
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนชิโนเเวค 8 แสนโดสมาถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 20 มีนาคม โดยเน้นใช้ในภารกิจป้องกันและเเพร่ระบาด 3 เเสนโดส กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ใช้ในภารกิจปกป้องระบบสาธารณสุข 2 แสนโดส ส่งไปยังบุคลากรทางสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และอีก 3 แสนโดส เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระจายไปยังพื้นที่เศรษฐกิจในส่วนของการท่องเที่ยวด้วย
สำหรับยอดผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ – 21 มีนาคม อยู่ที่ 73,517 คน ขณะที่วันนี้บางคนจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ส่วนการติดเชื้อรายจังหวัด ที่ จ.สมุทรสาคร พบผู้ป่วยรายใหม่ 33 คน ซึ่งสมุทรสาครยังคงมีการคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยรายใหม่ 21 คน จังหวัดอื่นๆ ผู้ป่วยรายใหม่ 12 คน ส่วนหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับสมุทรสาครและกรุงเทพฯ
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ มีการประชุมวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งจากที่มีมาตรการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมตั้งแต่ 17 มีนาคม ยังคงระดมการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เเต่ยังต้องมีโรงพยาบาลสนามไว้ ประมาณ 1-2 ปี ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า จะมีจำนวน 1,000-2,000 เตียง ส่วนความคืบหน้าที่ จ.สมุทรสาคร มีผู้ได้รับวัคซีนเกิน 35,000 คนแล้ว และวันนี้จะเริ่มรับวัคซีนเข็มที่ 2 นอกจากนี้ จะให้นำเสนอพิจารณาฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอาชีพและพฤติกรรมเสี่ยง เช่น พนักงานขับรถ ที่ต้องขับรถขนส่งกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในวันที่ 1 เมษายน จะมีการนำเสนอมาตรการผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ใน จ.สมุทรปราการ ที่แคมป์คนงานก่อสร้าง สุขุมวิท 117 พบมี 1 ในแรงงานไปตรวจโควิด-19 เพื่อต่ออายุงานที่ จ.อยุธยา จากนั้นได้รับผลยืนยันว่า ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ตรวจค้นหาเชิงรุกทันที มุ่งไปที่แคมป์คนงานสุขุมวิท 117 ตรวจไป 625 คน พบติดเชื้อ 16 คน ซึ่งใน 14 คน ไม่มีอาการ รวมถึงมีการตรวจชุมชนโดยรอบแคมป์คนงานอีก 400 คน ซึ่งยังต้องรอผล และจากนี้ ศบค. ยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแคมป์คนงานและหอพักถือเป็นสถานที่ปิด มีการใช้สถานที่และของใช้ร่วมกัน เช่น ห้องน้ำและตู้น้ำ
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบางเขนและสวนพลู ช่วง 11 มีนาคม-20 มีนาคม มีการตรวจไป 1,888 ราย พบผลบวก 98 ราย คิดเป็น 5.2 % แต่รายงานล่าสุดเช้าวันนี้ (22 มี.ค.) มีผลจากการตรวจค้นหาเชิงรุก เพิ่มอีก 297 ราย ซึ่งต้องติดตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขยืนยันอีกครั้ง โดยขณะนี้ทางศูนย์ฯ ตัดสินใจงดรับผู้ต้องกักใหม่ ทั้งในส่วนของสวนพลูเเละบางเขน พร้อมประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สโมสรตำรวจ ที่จะเตรียมไว้รับผู้ป่วยได้ประมาณ 120 คน แต่สามารถขยายได้ถึง 250 คน อีกทั้งเร่งฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ต้องกัก ซึ่งดำเนินการไปแล้วมากกว่า 70 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวถึงข้อห่วงใยของผู้ประกอบการภาคธุรกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่อาจพบการติดเชื้อในกลุ่มใหม่อีก ว่า ทาง ศบค.ก็มีความเป็นห่วงเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ประชาชนเกิดอาการเหนื่อยล้าจากการอยู่กับโรคระบาดมานาน จึงต้องการออกไปท่องเที่ยวโดยการเดินทางข้ามจังหวัด ศบค. จึงเน้นย้ำว่า การจัดเทศกาลสงกรานต์สามารถทำได้ แต่ขอให้ปลอดภัยและเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละจังหวัด แต่ถ้าพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่จำนวนมาก เช่น กว่า 100 รายขึ้นไป อาจทำให้ระบบสาธารณสุขดูแลด้วยความยากลำบาก.-สำนักข่าวไทย