สธ. 5 มี.ค. – ผอ.กองระบาดวิทยา เผยไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 17,697 คน มีอาการไม่พึงประสงค์ 270 คน แต่ไม่รุนแรง มีแค่ 2 คน ที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา ได้แก่ แพทย์หญิง จ.สมุทรสาคร คาดเป็นอาการท้องเสีย ส่วนพยาบาล จ.ราชบุรี มีอาการแพ้เล็กน้อย ผื่นขึ้น คลื่นไส้อาเจียน ยังรับวัคซีนเข็ม 2 ได้
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของซิโนแวค ว่า จากการดำเนินการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2564 รวม 17,697 คน พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ 270 คน คิดเป็นร้อยละ 1.5 แบ่งเป็น การปวด บวม ที่ฉีด ร้อยละ 24 คลื่นไส้ ร้อยละ 15 เวียนศีรษะ ร้อยละ 13 ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 8 ส่วนที่มีอาการอาจจะรุนแรง พบ 2 ราย รายแรกเป็นแพทย์หญิง วัย 28 ปี ที่ รพ.สมุทรสาคร ภายหลังคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วสรุปว่า อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อาการข้างเคียงรุนแรง แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดได้ ส่วนอาการท้องเสีย น่าจะเกิดจากอาหารเป็นพิษ อย่างไรก็ตาม รอผลแล็บมายืนยันอีกครั้ง และไม่ห้ามฉีดวัคซีนเข็ม 2 ส่วนประวัติการแพ้ยาเพนิซิลลินนั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน และไม่เป็นข้อห้ามไม่ให้คนที่แพ้ยาเพนิซิลลินในการรับวัคซีนป้องกันโควิดแต่อย่างใด
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ รายที่ 2 เบื้องต้นพบว่าเป็นพยาบาลที่ รพ.ราชบุรี อายุ 39 ปี ไม่มีประวัติแพ้อาหาร หรือแพ้ยาอะไรมาก่อน แต่หลังรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ในช่วงเฝ้าระวังสังเกตอาการ 30 นาที พบว่า มีอาการหน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอกนิดหน่อย ผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าเล็กน้อย ปวดท้อง ความดันลดลงเล็กน้อย แพทย์ให้ยาแก้แพ้ และอะดรีนาลีน ก็ทำให้อาการดีขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเก็บตัวอย่างซีรัม (เลือด) ไปตรวจหาระดับเอนไซม์บางตัวว่า อาการที่พบในช่วง 30 นาที เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ และจะนำรายละเอียดเข้าคณะกรรมการติดตามผลกระทบหลังได้รับวัคซีน เพื่อพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง ส่วนการรับวัคซีนเข็มที่ 2 ยังสามารถทำได้ เนื่องจากถือว่าอาการน้อย
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับอาการข้างเคียงต่างๆ ทั้งปวดบริเวณที่ฉีด หรืออื่นๆ นั้น ล้วนเป็นอาการเล็กน้อยที่พบ ส่วนใหญ่พบได้ 1 ใน 3 ของคนรับวัคซีน และเมื่อมีอาการในเข็มแรกแล้ว ส่วนใหญ่เข็มที่ 2 มักไม่แสดงอาการ ฉะนั้น การเตรียมตัวก่อนรับวัคซีนก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการแจ้งประวัติการใช้ยา การแพ้อาหาร แพ้ยาต่างๆ ให้แพทย์ทราบ ก่อนรับวัคซีนควรพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ามีไข้ ไม่สบาย ควรเลื่อนนัดฉีด อย่ารับประทานยาลดไข้ หรือยาแก้ปวด เพราะยาอาจไปกดภาวะการอักเสบ ทำให้การตอบสนองของวัคซีนลดลง เมื่อกลับบ้านแล้ว อาจพบว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น มีผื่น ปวด บวม บริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งหลังจากได้รับวัคซีนครึ่งชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมง อาการจะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าไข้สูงมาก รีบกลับมาพบแพทย์ หรือโทรแจ้ง 1669 ทั้งนี้ หลังฉีดแล้วควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 วัน เพราะหากมีอาการอะไรจะได้ทราบว่าเป็นผลมาจากวัคซีนหรือไม่
นพ.จักรรัฐ ยังกล่าวว่า สำหรับอาการแพ้รุนแรงจากวัคซีนที่แพทย์ห่วงกังวลมาก คือ อาการชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อไขสันหลังอักเสบ ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่พบ แพทย์และพยาบาลที่พบว่ามีอาการ ก็มีอาการไม่มาก โดยแพทย์หญิงคนแรกน่าจะเป็นอาการท้องเสียมากกว่า ส่วนพยาบาลนั้น ถือว่ามีอาการเล็กน้อย ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการฉีดไปแล้วใน 150 โรงพยาบาล และเพื่อความไม่ประมาท มีการตั้งระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาลใหญ่ 15 แห่ง ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะ กทม. เพื่อรับให้คำปรึกษา และการส่งต่อ กรณีสงสัยเรื่องผลกระทบจากการรับวัคซีน ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท. – สำนักข่าวไทย