กรุงเทพฯ 1 ธ.ค. – ชาวนาเฮ ครม.อนุมัติเพิ่มเงินประกันรายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท โครงการประกันรายได้ปี 63/64 เกษตรกรผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยแน่นอน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ( 1 ธ.ค.) มีมติอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 28,711.29 ล้านบาท เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 63/64 เป็นไปอย่างครบถ้วนแก่เกษตรกรที่มีสิทธิ์ทุกราย นับเป็นวงเงินอนุมัติเพิ่มเติมจากเดิมที่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 18,096.06 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 63/64 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 46,807.35 ล้านบาท สำหรับวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม. อนุมัติในวันนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
1) ค่าดำเนินการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์อ้างอิง โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 28,078.44 ล้านบาท จากเดิม 17,676.54 ล้านบาท รวมเป็น 45,754.98 ล้านบาท
2) ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 2.25 วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 631.76 ล้านบาท จากเดิม 397.72 ล้านบาท รวมเป็น 100 29.4 9 ล้านบาท
3) ค่าบริหารจัดการ ธ.ก.ส. วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 1.09 ล้านบาท จากเดิม 21.8 ล้านบาท รวมเป็น 22.88 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 โดยจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรในงวดที่ 1 ครบถ้วนแล้ว และงวดที่ 2 บางส่วน สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 1,429,135 ครัวเรือน เป็นเงิน 15,260.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.3 ของวงเงินงบประมาณเงินชดเชยที่ ครม. เคยอนุมัติไว้เดิม อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามสิทธิ์ สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15-29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 2 บางส่วน และงวดที่ 3-4) อีกจำนวน 2,905,043 ครัวเรือน เป็นเงิน 26,605.61 ล้านบาท และเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 5- 30) อีก 487,370 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 2,894,905 ตัน คาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณ 3,888.82 ล้านบาท ซึ่งวงเงินชดเชยดังกล่าวอยู่ในกรอบวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม.อนุมัติในวันนี้เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้เกษตรกรมั่นใจว่า จะได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามสิทธิ์อย่างแน่นอน
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์และการดำเนินมาตรการคู่ขนานที่ควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี63/64 รวม 3 โครงการคือ 1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63-29 ก.พ.64 2)โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ต.ค. 63 – 30 ก.ย. 64 และ 3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63 – 31 มี.ค. 64 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2-6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ย 3% ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ จะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
นอกจากนี้ สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 63/64 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและกระตุ้นให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี ในอัตราไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น วันนี้ (1 ธันวาคม 2563) ธ.ก.ส. ได้เริ่มจ่ายเงินค่าบริหารจัดการฯ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงวดแรกไปแล้ว จำนวนกว่า 400,000 ครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 1,600 ล้านบาท
อีกประการหนึ่งที่ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำคือ การส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตพันธุ์ข้าว ซึ่งวันนี้ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 1,600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกศูนย์ทั่วประเทศ. – สำนักข่าวไทย