กรุงเทพฯ 10 ส.ค.-“พุทธิพงษ์” รมว.ดีอีเอส จี้เฟซบุ๊ก หากไม่ปิดกั้นเว็บผิดกฎหมายภายใน 15 วัน เล็งเอาผิดทั้งกฎหมายแพ่งและอาญา
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงฯได้ดำเนินการส่งหนังสือแจ้งไปยังเฟซบุ๊กทั้งในประเทศไทย และ ประเทศสิงคโปร์ ให้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายที่มีคำสั่งศาลแล้ว 1,129 ยูอาร์แอล ซึ่งเป็นยูอาร์แอลที่ผิดกฎหมายตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 แต่เฟซบุ๊กเพิกเฉย อ้างว่าไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงฯ ดังนั้นนับจากวันนี้ไปอีก 15 วัน หากเฟซบุ๊กยังเพิกเฉยอยู่ กระทรวงจะดำเนินการทางกฎหมาย เนื่องจากกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง” ซึ่งหมายความว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รายใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้ลบหรือปิดเนื้อหาผิดกฎหมาย จะมีทั้งโทษปรับและปรับรายวันอีก จนกว่าจะยอมแก้ไข
สำหรับการดำเนินคดีนั้น กระทรวงฯอาจจะดำเนินคดีทั้งคดีทางอาญา และ แพ่ง ตามสมควรที่จะดำเนินการได้ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงฯได้ตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบค่าปรับเพื่อมาประเมินค่าปรับในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด,ตัวแทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ ตัวแทนจากกระทรวงดีอีเอส เป็นต้น
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงฯไม่สนใจว่า สำนักงานเฟซบุ๊กในไทย มีหน้าที่แค่ทำการตลาด หรือ เฟซบุ๊กในประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะทั้ง 2 บริษัท คือ เฟซบุ๊ก เขาคือ บริษัทเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของเขาที่ต้องประสานงานและรับผิดชอบร่วมกัน กระทรวงยืนยันว่าได้ส่งหนังสือไปทั้ง 2 แห่ง และเฟซบุ๊ก ต้องปฎิบัติตามกฏหมายของประเทศไทย ทุกยูอาร์แอลที่กระทรวงฯส่งไปนั้นมีคำสั่งศาลทั้งสิ้นว่าผิดกฎหมาย
สำหรับความคืบหน้าในการ เปิดตัว “เพจอาสาจับตาออนไลน์” เพื่อเป็นช่องทางสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแส พบว่า ในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการเปิดตัว มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ หรือ เว็บผิดกฎหมายเข้ามาแล้ว จำนวน 1,050 ยูอาร์แอล โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการแจ้งเรื่องเดียวกัน จำนวน 559 ยูอาร์แอล ซึ่งหลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน ได้ดำเนินการยื่นศาลขอปิดกั้น จำนวน 181 ยูอาร์แอลและศาลมีคำสั่งแล้วทั้ง 7 ยูอาร์แอล
ขณะที่ มีเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 174 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.หลอกลวง ถูกฉ้อโกง จำนวน 35 ยูอาร์แอล ซึ่งได้ให้คำปรึกษาประชาชนในการแจ้งความแล้ว 2.พนันออนไลน์ จำนวน 25 ยูอาร์แอล โดยได้ประสานให้ตำรวจพิจารณาดำเนินการ 3. ข่าวปลอม จำนวน 1 ยูอาร์แอล ได้ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบแล้ว และ 4.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อกฎหมาย จำนวน 101 ยูอาร์แอล
ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งรัดระบบรับเรื่องร้องเรียนสื่อออนไลน์ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กระบวนการรวบรวมและตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง แล้วส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง เพื่อทางตำรวจกอง บก.ปอท. และตำรวจที่เกี่ยวข้องไปตามจับผู้กระทำผิดได้โดยเร็ว ตลอดจนส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดเว็บหรือลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาเฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2563 รับแจ้ง 8,715 เว็บ ส่งศาลเพื่อออกคำสั่งไปแล้วทั้งสิ้น 7,164 เว็บ
“ผมเชื่อเสมอว่าประชาชนเป็นหูเป็นตาที่ดีที่สุด เมื่อพบสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บผิดกฎหมาย แจ้งได้ทุกเรื่องที่เพจ “อาสาจับตา ออนไลน์” ทาง inbox m.me/DESMonitor จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง พิจารณาข้อมูลร้องเรียนตามข้อกฎหมายและตอบกลับโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์ กล่าว-สำนักข่าวไทย.