กรุงเทพ 20 ธ.ค. – คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 67 ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ไปก่อน เนื่องจากสูตรคำนวณที่คณะกรรมการใช้ เป็นสูตรที่เห็นชอบให้อนุกรรมการทุกจังหวัดใช้เป็นเกณฑ์ โดย จ.ภูเก็ต จะมีค่าจ้างขั้นต่ำมากสุด 370 บาท เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำสุด 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 67 ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ไปก่อน เนื่องจากสูตรคำนวณที่คณะกรรมการใช้ เป็นสูตรที่เห็นชอบให้อนุกรรมการทุกจังหวัดใช้เป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผล และอยู่บนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเห็นควรปรับอัตราค่าจ้างตามความเหมาะสมและเป็นความจริง อยู่บนพื้นฐานความเสมอภาค เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ แต่หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณใหม่ ซึ่งจะมีตัวแทนนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นายจ้าง ลูกจ้าง เข้าร่วม โดยอาจจะมีการพิจารณาตามประเภทกิจการเข้ามาด้วย
“ตอนนี้ใช้ตามมติเดิมไปก่อน คือ ใช้มติตามวันที่ 8 ธันวาคม เมื่อคำนวณสูตรใหม่แล้ว เราจะเรียกประชุมบอร์ดฯ เพื่อพิจารณาค่าจ้างใหม่ ซึ่งอาจจะมีเพิ่มขยักสองในปีหน้า แต่จะทำให้เร็วที่สุด” นายไพโรจน์ กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างสูตรเก่า คำนวณจากปี 63-64 ช่วงโควิด ซึ่งอัตราเศรษฐกิจในช่วงนั้นตกต่ำ และเกิดภาวะเงินเฟ้อ คงต้องนำมาคำนวณใหม่ เพื่อให้เปอร์เซ็นต์ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งทางคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาโดยเร็ว โดยจะตั้งคณะอนุกรรมการปรับสูตรอัตราค่าจ้าง ในวันที่ 17 ม.ค.67 เพื่อพิจารณาแล้วเสนอมายังคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่ต้องให้อนุกรรมการในรายจังหวัดพิจารณาด้วย ทั้งนี้ มติที่ประชุมวันนี้เป็นเสียงเอกฉันท์ และได้รายงานให้ รมว.แรงงาน ทราบแล้ว เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้าต่อไป ส่วนจะขยับค่าแรงอีกครั้งเพื่อเป็นของขวัญก่อนวันแรงงานในปี 67 ได้หรือไม่นั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า อาจจะก่อนหรือหลังก็ได้ ยังตอบไม่ได้ ต้องรอความพร้อมจากทุกฝ่าย และต้องพิจารณาในประเภทกิจการด้วย เช่น ด้านการท่องเที่ยวและบริการ เป็นภาคที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องนำมาพิจารณาในการปรับสูตร
ด้านตัวแทนลูกจ้าง กล่าวยืนยันว่า มติไตรภาคีที่ออกไปแล้วไม่ควรมีการปรับเปลี่ยน แต่หากจะให้ปรับขึ้นอีกก็ควรจะเป็นครั้งต่อไป ซึ่งจะใช้สูตรใหม่ในการคำนวณ เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมมากที่สุด โดยจะถือเป็นการสังคายนาจากสูตรเก่าใหม่ทั้งหมด ซึ่งในวันที่ 17 ม.ค.67 จะนัดประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกรอบ เพื่อพิจารณาตั้งอนุกรรมการจากผู้ทรงวุฒิในแต่ละสาขาอาชีพ เข้ามาร่วมกันพิจารณาสูตรใหม่โดยเฉพาะ
ส่วนตัวแทนนายจ้าง กล่าวว่า มติที่ออกมาถือว่าชอบธรรม เพราะเราขึ้นค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และใช้ทั่วประเทศพร้อมๆ กัน ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น เรายังใช้ตามมติเดิม หรือถ้าอนาคตมีสงคราม เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น หรือเศรษฐกิจ ก็สามารถพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งต้นปีก็จะมีการปรับสูตรอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ขอส่งสัญญาณใด ๆ ไปที่ฝ่ายการเมือง แต่ขอวิงวอนว่า อย่าทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง หากต้องการทราบข้อมูลอะไร ฝ่ายนายจ้างพร้อมจะให้ข้อมูล ก่อนที่ท่านจะให้สัมภาษณ์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายแบบนี้
“ถ้าย้อนหลังกลับไปปี 56 เราโดนพิษการเมืองเล่นงาน จาก 221-251 บาท เป็น 300 บาท นายจ้างล้มหายตายจากไปเยอะ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เราไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก ควรจะยุติการที่มาแทรกแซง ควรให้เรามีอิสระในการพิจารณา มันจะเป็นผลดีกับประเทศมากกว่า” ตัวแทนนายจ้าง กล่าว
สำหรับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ตามมติวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีดังนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุด คือ จ.ภูเก็ต 370 บาท เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุด คือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท
1. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 370 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จากเดิม 354 บาท
2. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาท 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร (353) จังหวัดนครปฐม (353) นนทบุรี (353) ปทุมธานี (353) สมุทรปราการ (353) และสมุทรสาคร (353)
3. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท 2 จังหวัด จังหวัดชลบุรี (354) และระยอง (354)
4. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา (340)
5. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม (338)
6. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (343) สระบุรี (340) ฉะเชิงเทรา (345) ปราจีนบุรี (340) ขอนแก่น (340) และเชียงใหม่ (340)
7. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี (340)
8. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี (340) นครนายก (338) และหนองคาย (340)
9. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ (340) และตราด (340)
10. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท จำวน 15 จังหวัดกาญจนบุรี (335) ประจวบคีรีขันธ์ (335) สุราษฎร์ธานี (340) สงขลา (340) พังงา (340) จันทบุรี (338) สระแก้ว (335) นครพนม (335) มุกดาหาร (338) สกลนคร (338) บุรีรัมย์ (335) อุบลราชธานี (340) เชียงราย (332) ตาก (332) พิษณุโลก (335)
11. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (335) ชุมพร (332) สุรินทร์ (335)
12. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร (335) ลำพูน (332) นครสวรรค์ (335)
13. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (332) บึงกาฬ (335) กาฬสินธุ์ (338) ร้อยเอ็ด (335) เพชรบูรณ์ (335)
14. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท (335) สิงห์บุรี (332) พัทลุง (335) ชัยภูมิ (332) และอ่างทอง (335)
15. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (332) สตูล (332) เลย (335) หนองบัวลำภู (332) อุดรธานี (334) มหาสารคาม (332) ศรีสะเกษ (332) อำนาจเจริญ (332) แม่ฮ่องสอน (332) ลำปาง (332) สุโขทัย (332) อุตรดิตถ์ (335) กำแพงเพชร (332) พิจิตร (332) อุทัยธานี (332) และราชบุรี (332)
16. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง (332) น่าน (328) พะเยา (335) แพร่ (332)
17. อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส (328) ปัตตานี (328) และยะลา (328)
โดยค่าจ้างเฉลี่ย รวม 77 จังหวัด จะอยู่ที่ 345 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป.-513-สำนักข่าวไทย