กรุงเทพฯ 3 ต.ค.- กรมอุตุฯ คาดพายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” เคลื่อนถึงทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน 5 ต.ค. จากนั้นจะเคลื่อนตัวต่อไปยังด้านตะวันออกของจีน ไทยยังมีทิศทางลมแปรปรวนและฝนตกต่อเนื่อง จากหย่อมความกดอากาศต่ำ ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่าน สทนช. เตือนเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นตลิ่งลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วง 3-7 ต.ค.นี้
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ในช่วงวันที่ 3- 5 ต.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ฝนยังเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำ จึงต้องระวังฝนหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยกทม. และปริมณฑลต้องเพิ่มการเฝ้าระวังเนื่องจากเป็นพื้นที่เปราะบางเกี่ยวกับการระบายน้ำ
ในช่วง 1-2 วันนี้ คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลางโดยเฉพาะทะเลอันดามัน คลื่นสูง 1-2 เมตร
จากนั้นระหว่างวันที่ 6 -12 ต.ค. ร่องมรสุมจะขยับขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นบ้าง โดยตกหนักบางแห่ง ระยะนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ทิศทางลมยังแปรปรวนและสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมาปกคลุมแล้ว
สำหรับ พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ (KOINU)” ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปถึงตอนใต้ของเกาะไต้หวันในวันที่ 5 ต.ค. หลังจากนั้นเคลื่อนตัวตามแนวขอบชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศจีน แถบมณฑลกวางตุ้งและเกาะฮ่องกง คาดว่า จะอ่อนกำลังลงตามลำดับเนื่องจากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีน ดังนั้นพายุนี้จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่ฝนที่เกิดขึ้นมาจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ รวมถึงจากลมพัดเข้าสู่พายุ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามการเคลื่อนตัวของพายุอย่างใกล้ชิด
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่มและน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 3 – 7 ต.ค. จากฝนที่ตกต่อเนื่องด้วยอิทธิพลของร่องมรสุม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และหย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าว โดยมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่มได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง
สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำดังนี้
- แม่น้ำวังได้แก่ จังหวัดตาก
- แม่น้ำยมได้แก่ จังหวัดสุโขทัย
- แม่น้ำเจ้าพระยา ต้องเฝ้าระวังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยคาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200 – 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร.-สำนักข่าวไทย