กรุงเทพฯ 27 ก.ย.-จับตาการประชุม ก.ตร. แต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 แทน “พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์” ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ท่ามกลางกระแสอาจมีการเลื่อนวาระแต่งตั้ง เพื่อรอผลสอบปมค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก”
จับตาวาระการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะนั่งเป็นประธานการประชุมครั้งแรก โดยมีวาระสำคัญคือ การแต่งตั้งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่า อาจมีการขอเลื่อน เพื่อรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเข้าค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือบิ๊กโจ๊ก รอง ผบ.ตร. ซึ่งวานนี้ (26 ก.ย.) นายกฯ ได้เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้มีความชัดเจนก่อน
พร้อมกันนี้ยังมีรายงานว่าวันนี้อาจจะมีการเสนอที่ประชุม ก.ตร. เพื่อขอขยายเวลาการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึง ผู้บังคับการ ออกไปอีกอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการขอขยายเวลาในการแต่งตั้งโยกย้ายรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงผู้บังคับการ
สำหรับ รอง ผบ.ตร.ที่เป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ประกอบด้วย อาวุโส ลำดับที่ 1 “บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 และนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 40 เกษียณอายุราชการในปี 2567
อาวุโส ลำดับที่ 2 “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31 และจบปริญญาตรีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 47 เกษียณอายุราชการ ปี 2574 อาวุโส
ลำดับที่ 3 “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 และปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 41 เกษียณอายุราชการ ในปี 2569
อาวุโส ลำดับที่ 4 “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จบระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิงห์แดง รุ่นที่ 38 ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก่อนเข้ารับราชการตำรวจ เคยทำงานเป็นพนักงานในบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ อยู่ได้ 7 ปี สมัครรับราชการตำรวจโดยเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรม ผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น จากเดิมตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เก่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบันจะเป็นผู้เสนอชื่อให้คณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมกันพิจารณาเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แต่ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ได้กำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบันเสนอรายชื่อ ข้อมูลและคุณสมบัติ ของแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังให้เจ้าตัวเขียนรายละเอียดผลงานที่ผ่านมา เสนอให้นายกรัฐมนตรีนำไปพิจารณา เมื่อถึงวันที่มีการประชุม ก.ตร. ซึ่งมีวาระการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ นายกรัฐมนตรีก็จะเสนอรายชื่อแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดให้ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด 16 คน พิจารณา แต่ในจำนวนนี้มี 4 คน ที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เนื่องจากมีรายชื่อเป็นแคนดิเดต ทำให้ที่ประชุมจะเหลือคนโหวตเพียง 12 คน โดยจะมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ความอาวุโส 50% และความรู้ความสามารถอีก 50% อย่างละเท่า ๆ กัน
จากนั้นก็จะมีการโหวตเห็นชอบกับรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีเสนอมา หากเสียงข้างมากเห็นชอบก็จะได้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แต่หากผลโหวตคะแนนเท่ากัน ประธานในที่ประชุมจะเป็นผู้ชี้ขาด จากนั้นเมื่อได้ ผบ.ตร.คนใหม่ นายกรัฐมนตรีก็จะนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป. -สำนักข่าวไทย