กรุงเทพฯ 17 มี.ค. – ปลัดกระทรวงเกษตรฯ สั่งทูตเกษตรในจีนและกรมการข้าวเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้นำเข้าข้าวและผู้บริโภคชาวจีนถึงคุณภาพและมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย หลังมีโรงงานผลิตข้าว 3 แห่งในมณฑลอานฮุยปลอมข้าวหอมมะลิไทยโดยใช้สารแต่งกลิ่น ล่าสุดทางการจีนสั่งปิดโรงงานแล้ว พร้อมอายัดข้าวปลอมเพื่อทำลาย
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์กงสุล (ฝ่ายเกษตร)ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ถึงผลการตรวจสอบข่าวโรงงานผลิตข้าวของจีนในมณฑลอานฮุยปลอมข้าวหอมมะลิไทย โดยผลการตรวจสอบพบว่า โรงงานทั้ง 3 โรงงานไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิไทย และไม่เคยมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย โดยรายละเอียดของโรงงาน 3 โรงงานมีดังนี้
1) บริษัท Anhui Huainan Shouxian Yongliang Rice Industry โดยใช้ชื่อแบรนด์ “ราชาไทย (Tai Zhi Wang) และ”ข้าวหอมมะลิไทยรุ่นที่ 2” โดยชื่อนี้เป็นเพียงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งทางบริษัทไม่ได้มีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับข้าวหอมมะลิของไทย โดยข้าวที่ใช้เป็นข้าวในท้องถิ่น เมื่อตรวจสอบพบว่า มีการเติมสารปรุงแต่งกลิ่น และขายในพื้นที่มณฑลอานฮุยเป็นหลัก โดยมียอดขายปีละประมาณ 1 หมื่นตัน

2) บริษัท Anhui Xiangwang Cereals, Oils and Food Technology Co., Ltd. ผลิตและแอบอ้างการจำหน่ายข้าวหอมมะลิที่ข้อความระบุบนบรรจุภัณฑ์ว่า “ข้าวหอมมะลิประเทศไทย” และระบุแหล่งผลิตจากประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯยอมรับว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับข้าวหอมมะลิไทย ข้าวที่ใช้เป็นข้าวของอานฮุยและเติมสารปรุงแต่งกลิ่น และแอบอ้างว่า เป็นข้าวหอมมะลิไทย บริษัทนี้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมดอายุเมื่อ 6 ปีก่อน
3) บริษัท Huainan Chufeng Industry and Trade Co., Ltd. จำหน่ายข้าวพันธุ์ต้าวยวาเซียง ซึ่งเป็นข้าวที่ผลิตในเมืองอู่ฉาง มณฑลเฮย์หลงเจียง แต่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Tai Guo Xiang Mi หรือข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งโรงงานนี้ก็ใช้สารเติมปรุงแต่งกลิ่นเพื่อให้เป็นข้าวหอมมะลิเช่นกัน
สำหรับบริษัท Shanghai Rofeeflavor Fragrant Co., Ltd. และบริษัท Shanghai Fengmi Industrial Co., Ltd. เป็นบริษัทที่ผลิตสารปรุงแต่งที่อยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ พบว่าไม่มีใบอนุญาตการผลิต โดยโรงงานผลิตสารปรุงแต่งกลิ่นทั้ง 2 แห่งนี้ ได้จำหน่ายสารปรุงแต่งกลิ่นให้กับโรงงานผลิตข้าวทั้ง 3 แห่งในมณฑลอานฮุย
สำหรับสารที่คาดว่า ใช้เติมแต่งกลิ่นหอมของข้าวคือสาร Pyrazine และ Pyrrole ตามกฎระเบียบ GB2760 – 2014 ว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติจีนได้ประกาศบัญชีรายชื่ออาหารที่ห้ามใช้สารเติมแต่งรสและกลิ่น โดยกำหนดให้ “ข้าว” เป็นสินค้าที่ห้ามใช้สารแต่งกลิ่นและรส นอกจากนี้ ระเบียบว่าด้วยการกำกับดูแลและการบริหารการผลิตวัตถุเจือปนอาหาร ที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลคุณภาพแห่งชาติจีน ระบุว่า ผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจึงจะสามารถผลิตวัตถุเจือปนอาหารได้ และตามระเบียบว่าด้วย “มาตรฐานการใช้วัตถุเจือปนอาหาร” ของประเทศจีน ไม่อนุญาตให้ใช้วัตถุเจือปนอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ในการปลอมปนหรือการปลอมแปลง
ล่าสุดสำนักงานการดูแลตลาดและตำรวจได้สั่งปิดโรงงานที่กระทำผิดทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งได้ตรวจยึดข้าวและวัตถุดิบต่างๆ ของโรงงานทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและทำลาย และได้ออกหมายเรียกตัวแทนของบริษัทฯ เพื่อดำเนินคดีแล้วนอกจากนี้ยังพบว่า หลังจากข่าวการปลอมข้าวหอมมะลิไทยถูกเผยแพร่ออกไป แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ต่างๆ ที่มีการจำหน่ายสารเติมแต่งอาหารถูกบล็อกการจำหน่าย
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า กงสุล (ฝ่ายเกษตร)ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ได้สอบถามข้อมูลผู้นำเข้าของไทยในพื้นที่ ทราบว่าขณะนี้ทางบริษัทได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีลูกค้าสอบถามและขอเอกสารประกอบผลตรวจค่าความหอมของข้าวหอมมะลิ ซึ่งปกติแล้วเอกสารการตรวจสอบข้าวก่อนการส่งออกขององค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน (CCIC) จะไม่มีการตรวจสอบหรือระบุความความหอมดังกล่าว
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และเซี่ยงไฮ้หารือเพื่อกำหนดแนวทางให้ข้อมูลสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคชาวจีนอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยร่วมกันจัดทำข้อความเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิไทย โดยข้าวหอมมะลิไทยแท้ ต้องมาจากประเทศไทย มีกลิ่นหอมจากธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ปราศจากสารปรุงแต่งกลิ่นและต้องได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองก่อนการส่งออก ผู้ผลิตและแปรรูปข้าวไทยที่ส่งออกมาประเทศจีนจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยและศุลกากรแห่งชาติจีน” รวมทั้งให้ข้อแนะนำการสังเกตวิธีการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิแท้จากประเทศไทย เช่น ตรารับรอง CCIC ตรา “รวงข้าว” และการสังเกตรหัสบาร์โค้ด เป็นต้น
ตลอดจนร่วมกันเร่งชี้ทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคจีนในมณฑลอานฮุยโดยด่วน โดยใช้ข้อความที่สำนักงานเกษตรฯ ทั้ง 3 แห่งในประเทศจีนร่วมกันร่างขึ้น โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้แปลข้อมูลเป็นภาษาจีนและเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียของสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อเน้นย้ำว่า ข้าวหอมมะลิไทยต้องมาจากประเทศไทย เป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดจากธรรมชาติ ปราศจากสารเติมแต่ง รวมทั้งให้ข้อแนะนำวิธีการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิแท้จากประเทศไทย และได้เผยแพร่ลงในช่องทาง official account ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ Weibo และ WeChat ซึ่งเป็นผู้ติดตามที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง เจียงชู และอานฮุย
นอกจากนี้ยังกำชับให้กรมการข้าวเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย ส่วนการปลอมปนข้าวในจีนโดยการเติมแต่งกลิ่นในข้าวสารเพื่อแอบอ้างสวมรอยเป็นข้าวพันธุ์ต้าวฮวาเชียง ซึ่งเป็นข้าวชื่อดังที่ผลิตในเมืองอู่ฉาง มณฑลเฮย์หลงเจียง โดยเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2553 หรือ 13 ปีที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย
นอกจากนี้ยังกำชับให้กรมการข้าวเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย ส่วนการปลอมปนข้าวในจีนโดยการเติมแต่งกลิ่นในข้าวสารเพื่อแอบอ้างสวมรอยเป็นข้าวพันธุ์ต้าวฮวาเชียง ซึ่งเป็นข้าวชื่อดังที่ผลิตในเมืองอู่ฉาง มณฑลเฮย์หลงเจียง โดยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 หรือ 13 ปีที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย