5 เม.ย. – ทนายความจากสภาทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่หมู่บ้านโป่งลึกบางกลอย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หาข้อมูลเพื่อยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด คดีที่เจ้าหน้าที่อุทยานรื้อเผาบ้าน และยุ้งฉางข้าว ขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม หลังศาลปกครองกลางยกฟ้อง
คออี้ มีมิ ผู้เฒ่า 5 แผ่นดินวัย 106 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ใช้ชีวิตในกระท่อมหลังเล็ก หลังจากเมื่อปี 54 ถูกขับไล่จากบ้านเกิด แม้เคารพคำพิพากษาแต่ยังหวังได้กลับบ้าน ปู่บอกว่าที่นี่ร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องทนอยู่ ยืนยันจะสู้คดีแม้ร่างกายทรุดลงเรื่อยๆ เพราะอยากให้ลูกหลานมีชีวิตดีขึ้นและอยากกลับไปตายที่บ้านเกิด
ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เดิมอยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำหรือใจแผ่นดิน ทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่มติ ครม.ปี 56 เห็นชอบให้เป็นมรดกวัฒนธรรมชาติ แต่เมื่อถูกขับไล่ ต้องแบ่งที่อยู่กับชาวบ้านเดิม ที่ดินทำกิน 7 ไร่ต่อครัวเรือน ก็ไม่ได้ตามที่รัฐสัญญา โครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้าช่วยเหลือไม่ต่อเนื่องและไม่เหมาะกับพื้นที่
เมื่อเกษตรไม่ใช่อาชีพหลัก ศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้จึงเป็นสถานที่สร้างรายได้ ผู้ชายต้องหันมาทอผ้า แม้ขัดกับวัฒนธรรม ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 10,000 บาท ทำให้ต้องมารับจ้างรายวัน เช่นเดียวกับแบงค์ วัย19 ปี เรียนจบแค่ ป.6 เพราะไม่มีเงินเรียน เป็นห่วงอนาคตของตนเองและวัฒนธรรมที่กำลังจะถูกกลืนหายไป
หลังลงพื้นที่ทนายความพบว่า ชาวบ้านยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิในรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ไม่มั่นคงในชีวิตทั้งเรื่องอาหาร ที่พัก และการดำรงชีพตามอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง การช่วยเหลือของรัฐไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ และเตรียมนำข้อมูลเสนอศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพิ่มเติม
ไทยเคยเสนอให้ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติต่อยูเนสโก แต่ต้องตกไปเพราะบริหารจัดการคนที่อยู่ในป่าไม่ได้ ซึ่งชาวบ้านไม่คัดค้าน หากรัฐทำให้คนและป่าอยู่ร่วมกัน เช่นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ทำได้ การเป็นพื้นที่มรดกโลกก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก. – สำนักข่าวไทย