กทม. 4 เม.ย. – หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หลายฝ่ายต่างจับจ้องไปที่การเลือกตั้ง ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติจะมี ส.ส.ระบบเขต 350 คน ระยะเวลาหลังจากนี้จะเริ่มเห็นความชัดเจนของบุคคลมากขึ้น
รัฐธรรมนูญมาตรา 83, 85 และ 86 กำหนดหลักการที่มาของ ส.ส. ทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน เขตละ 1 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว แต่เพิ่มเติมเรื่องการนำคะแนน ส.ส.แบบเขต ทั้งที่ชนะและแพ้การเลือกตั้งทั่วประเทศมาคำนวณ เพื่อหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้ โดยส่วนต่างจากจำนวน ส.ส.เขตที่ชนะการเลือกตั้งจะถูกเพิ่มเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ
จากจำนวนราษฎรของสำนักทะเบียนกลาง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม กว่า 65 ล้านคน สามารถแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยจังหวัดที่จะมี ส.ส. 1 คน จำนวน 8 จังหวัด มี ส.ส.เกิน 1 คน จำนวน 68 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจำนวนจะมีความชัดเจนอีกครั้งในช่วงปลายปี 2560 ที่ขณะนี้ กกต.เริ่มเตรียมความพร้อม แม้จะยืนยันว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ และเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2561
หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะมีเวลา 240 วัน ที่ สนช.จะเร่งออกกฎหมายลูก 4 ฉบับ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ก่อนที่จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 263-266 กำหนดห้ามแม่น้ำ 4 สาย คือ ครม. คสช. สนช. และ สปท. ลงสมัคร ส.ส. เว้นแต่จะลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน หลังร่างรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่ก็เริ่มมีกระแสเคลื่อนไหวใน สปท. ที่มาจากภาคการเมืองที่เตรียมจะลาออก ด้วยเหตุผลที่ว่าได้ผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเมืองไปแล้ว
บางคนยอมรับว่าขอผลักดันกฎหมายกำนันผู้ใหญ่บ้านเสร็จก็จะลาออก ขณะที่บางส่วนยังรอดูท่าทางเพราะยังมีเวลาในการตัดสินใจอีก 3 เดือน แต่มียืนยันไม่ลาออกและไม่ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ นายกษิต ภิรมย์ เนื่องจากจะรอให้การปฏิรูปการเมืองเห็นผลก่อน ซึ่งโค้งสุดท้ายต้นเดือนกรกฎาคมนี้ที่จะครบกำหนด 90 วัน จะมีความชัดเจน. – สำนักข่าวไทย