กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – “ประยงค์ ปรียาจิตต์” ชี้ปัญหาทุจริต เกิดจากกลไกรัฐทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ระบุ รัฐบาลใช้ ม. 44 แก้ปัญหาทุจริต ปลดข้าราชการ 127 คนจาก 353 คดี หวังป้องกันผู้ทุจริตหน้าใหม่
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) และการใช้ ม.44 ต่อการทุจริตภาครัฐ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 และสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปอค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายประยงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลไกของรัฐขาดการทำงานที่มีประสิทธิภาพจึงเกิดการทุจริตขึ้น ถ้าหากส่วนราชการทำงานด้วยความโปร่งใส ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด รัฐบาลจึงสร้างกลไกขึ้นมาแก้ไขปัญหา กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำหน้าที่ให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ด้วยการตั้งคตช.,ศอตช.,ศปท. รวมถึงการใช้คำสั่งตาม ม.44 ปลดข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตไปแล้ว 127 คนจาก 353 คดี โดยนายกรัฐมนตรีมองเป้าหมายว่า เมื่อปรับปรุงกฎหมายของหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริต อย่าง ป.ป.ช. ,ป.ป.ท. แล้ว จะทำให้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เร็วขึ้น
เลขาฯ ปปท. กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ตั้งศาลแผนกคดีทุจริตโดยตรงเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และป้องกันไม่ให้เกิดคนทุจริตรายใหม่ และต้องการให้กลไก ท้องถิ่นกลับมาเข้มแข็ง ใช้อำนานรัฐทำให้ประชาชนมีความสุข ให้ผู้บริหารภาครัฐที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 8 พันคนควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มี 2.7 ล้านคนให้ทำงานอยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลอย่างตรงไปตรงมา
นายประยงค์ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในหน่วยงานของรัฐ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง คตช. จะส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากไม่ดำเนินการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นผู้สั่งการเอง พร้อมตั้งให้ผู้ตรวจราชการติดตามเรื่องเพื่อรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิรูป จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลไกการตรวจสอบปกติดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาฯ ปปท. ยังกล่าวว่า ในปี 2560 ถือเป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ ต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ โดยให้ กพร.เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน พร้อมจะผลักดันให้เกิดเมืองต้นแบบอัจฉริยะ Smart city เพื่อให้การดำเนินงานของรัฐดำเนินการอย่างโปร่งใสและรวดเร็ว โดยจะให้จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องเนื่องจากมีชาวต่างชาติอยู่มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกำหนดการงานประชุมสัมมนาครั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องร่วมบรรยายเรื่อง การทุจริต ความโปร่งใส การตรวจสอบของ สตง. ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยกเลิกกระทันหัน เนื่องจากมีรายงานว่า นายพิศิษฐ์ ติดการประชุมวาระเร่งด่วนสำคัญมากกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงได้มอบหมายให้ นางชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 มาบรรยายพิเศษแทน .- สำนักข่าวไทย