ภูมิภาค 10 พ.ย.-ฝนตกหนักซ้ำเติมชาวนา ต้นข้าวล้ม นาข้าวหลายจังหวัดจมน้ำ เมล็ดข้าวเริ่มเน่าและงอก คาดผลผลิตลดเหลือครึ่งเดียว
หลังฝนตกหนักติดต่อหลายวันทำให้นาข้าวของชาวนาหมู่ที่ 7 ต.ป่างิ้ว จ.อ่างทอง อยู่ในสภาพจมน้ำ ต้นข้าวล้มเสียหายเป็นจำนวนมาก ชาวนาต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำออกจากแปลงนาเพื่อที่จะรักษาส่วนที่เหลือไว้แต่จากสภาพฝนที่ยังคงตกต่อเนื่องทำให้ข้าวเน่าเสียหาย ทำให้ชาวนาหลายรายถอดใจปล่อยต้นข้าวจมน้ำเนื่องจากสู้กับค่าน้ำมันที่จะต้องนำมาใช้จ่ายในแต่ละวันไม่ไหว
นายชลอ เกตุโพธิ์ทอง วัย 62 ปี ชาวนารายหนึ่งเปิดเผยว่า กว่า 4 วันแล้วที่ต้องนำเครื่องสูบน้ำมาตั้งเพื่อสูลบน้ำที่ท่วมต้นข้าวกว่า 6 ไร่ของตนเอง โดยต้องใช้น้ำมันถึงวันละ 200 บาท แต่ก็ต้องสู้เพราะยังพอมีข้าวด้านบนที่ยังพอเก็บเกี่ยวได้ ขณะที่ข้าวด้านล่างซึ่งจมน้ำน่าจะเน่าเสียหายทั้งหมด
ส่วนนายพรชัย ศิริพงษ์ ชาวนาจังหวัดอุทัยธานี ต้องใช้เครื่องสูบน้ำออกจากแปลงนา และเร่งลงมือใช้เคียวเกี่ยวข้าวในนาที่ต้นล้มขึ้นจากน้ำ เพื่อหนีปัญหาข้าวเน่าเสีย หลังมีฝนตกหนักติดต่อในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในนาข้าวเป็นบริเวณกว้าง ทำให้การเก็บเกี่ยวยากลำบากขึ้น หนำซ้ำข้าวที่เก็บเกี่ยวระยะนี้ก็มีความชื้นสูงกว่าปกติ ถูกตัดราคารับซื้อตามมา โดย นายพรชัย ศิริพงษ์ กล่าวว่า ทำนา 20ไร่ จะเก็บเกี่ยวในวันที่ 15 พ.ย.นี้ แต่เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับกระแสลมแรง ทำให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวงใกล้สุกล้มลงรวมข้าวถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ต้องไปหาแรงงานคนมาเก็บเกี่ยวข้าวแทนรถเกี่ยว
ทั้งนี้เกษตรอำเภอหนองฉาง ก็ได้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจตรวจสอบความเสียหาย คาดว่าจะมีประมาณ 280 ราย พื้นที่ราว 3,000 ไร่ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไปแล้ว
ชาวนาบ้านวังโป่ง หมู่ 8 ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ต้องเร่งขุดร่องน้ำทั่วแปลงนา เพื่อเปิดทางให้น้ำฝนระบายออกจากแปลงนาเป็นการด่วน หลังฝนตกลงมาอย่างหนัก ตลอด 2 วัน และล่าสุดยังคงตกต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังในแปลงนาข้าวของชาวนา ตำบลวังกะพี้ อ.เมืองอุตรดิตถ์ และ ตำบลไผ่ล้อม อ.ลับแล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม รองรับน้ำฝนจากจากทางตอนเหนือของอำเภอเมืองและอำเภอลับแล
นายเจริญ ฝังใจ ชาวนาตำบลวังกะพี้ กล่าวด้วยสีหน้าเศร้าหมองว่า ข้าว 20 ไร่รอเกี่ยว ฝนที่ตกอย่างหนักตลอด 2-3 วัน ประกอบกับมีลมแรงพัดจนต้นข้าวล้มระเนระนาดราบกับพื้นนา รวงข้างจมน้ำ บางส่วนเมล็ดข้าวเริ่มเน่า และงอก ชาวนาต้องเร่งระบายน้ำออกจากแปลงนา ทั้งการขุดร่องน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากแปลงนา เพื่อรักษาข้าวให้สามารถเก็บเกี่ยวขายได้บ้าง
ฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ซ้ำเติมชาวนาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำแล้ว ข้าวที่จมน้ำ เมล็ดเน่าเสียหายเก็บเกี่ยวไม่ได้ ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย คาดว่าเก็บเกี่ยวขายได้เพียงครั้งหนึ่ง หรือ 50% ที่สำคัญความชื้นสูง ขายไม่ได้ราคา ทั้งนี้ชาวนา 2 ตำบล 2 อำเภอ เกิดปัญหาเดียวกัน คือต้นข้าวล้ม จมน้ำ เน่าเสียหาย ที่เก็บเกี่ยวได้ความชื้นสูง ได้รับผลกระทบกว่า 1 หมื่นไร่.-สำนักข่าวไทย