สำนักข่าวไทย 21 มี.ค.-สทศ.ประกาศคะแนนโอเน็ต นักเรียนชั้นม.6 ปี59 พบคะแนนวิชาภาษาไทยเกินครึ่งเพียงวิชาเดียว นักวิชาการชี้ แม้รัฐกำ หนดนโยบายเพิ่มคะแนนโอเน็ตร้อยละ 3 ก็ไม่ช่วยให้คะแนนเด็กดีขึ้น
นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่ง ชาติ(สทศ.) เปิดเผยถึงกรณีการประกาศผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต)ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2559 ซึ่งจัดสอบไปเมื่อวันที่18 – 19 กุมภาพันธ์ 2560ว่า จากคะแนนที่ออกมาเมื่อจำแนกตามสาระการเรียนรู้ พบว่าวิชาภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ย 52.29 คะแนน จากผู้เข้าสอบทั้งหมด 378,161 คน วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม คะแนนเฉลี่ย 35.89 คะแนน จากผู้เข้าสอบ 378,924 คน วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเฉลี่ย 27.76 คะแนน มีผู้เข้าสอบ 378,779 คน วิชาคณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 24.88 คะแนน จากผู้เข้าสอบ 379,064 คน และวิชาวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 31.62 คะแนน จากผู้เข้าสอบ 378,268 คน
นายสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมผลสอบ O-NET ชั้นม.6 ปีการศึกษา 2559 มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าผลสอบปีการศึกษา 2558 จำนวน 2 วิชา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือมีคะแนนเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และเมื่อสำรวจคะแนนลงไปในรายละเอียด พบโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในการสอบทุกวิชา โรงเรียนที่ตั้งในเมืองมีคะแนนสูงกว่าโรงเรียนที่ตั้งนอกเมืองทุกวิชา และโรงเรียนในกรุง เทพมหานครมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด และมีคะแนนสูงกว่าโรงเรียนที่ตั้งในภาคอื่นๆ ทุกวิชา นอกจากนี้ โรงเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศทุกวิชา
ทั้งนี้สาระการเรียนรู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย สูงสุดในแต่ละวิชา ดังนี้ วิชาภาษา ไทย คือ สาระการฟัง การดู และการพูด วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คือ สาระภูมิศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ คือ สาระภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก วิชาคณิตศาสตร์ คือ สาระจำนวนและการดำเนินการและวิชาวิทยาศาสตร์ คือ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม สทศ. ได้จัดทำใบรายงานผลสอบ O-NET เพื่อให้นักเรียน โรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ ต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำผลสอบ ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ดีขึ้น
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงกรณีดังกล่าวว่า คะแนนโอเน็ตที่ออกมา สะท้อนถึงคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งๆที่ปีนี้มีภาครัฐมีการกำหนดนโยบายว่าคะแนนโอเน็ตต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และสทศ.เองก็อัปโหลดข้อสอบให้นักเรียนได้ทดลองทำด้วย แต่คะแนนกลับไม่เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ แนะโรงเรียน ครูเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ให้เด็กคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา ไม่ใช่ติวข้อสอบและเด็กเน้นท่องจำอย่างเดียว ทั้งนี้อยากเสริมว่า การที่สทศ.วิเคราะห์ว่าคะแนนของโรงเรียนขนาดใหญ่หรือในกทม.ดีกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดนั้น การวิเคราะห์แบบนี้คนไทยยอมรับจนเคยชินแล้ว และสะท้อนว่าไม่ได้ช่วยให้การศึกษาพัฒนาขึ้น แต่สทศ.ควรแนะวิธีการที่ครูควรทำหรือการเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้ครูและเด็กเปลี่ยนแปลงและทำข้อสอบได้ดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย