ท่าพระจันทร์ 20 มี.ค. – นักวิชาการ
มธ.คาดเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3 ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อ-ส่งออกฟื้น แต่ห่วงภัยแล้งกระทบภาคเกษตร
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานสัมมนา “เศรษฐกิจไทย 2560 : SOMTUM Crisis?!?” ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ ภาพรวมปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
และคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐ
โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท
ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชนเข้ามาในประเทศมากขึ้น
ขณะที่การส่งออกเริ่มฟื้นตัวจากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้าประเทศอิเล็กทรอนิกส์
สินค้าโภคภัณฑ์ และยางพารา
โดยธุรกิจท่องเที่ยวและบริการยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทย
โดยรัฐต้องให้ความสำคัญส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในตลาดในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนภาคครัวเรือนเริ่มอยู่ในระดับต่ำลง สิ่งที่เป็นห่วงและอาจกระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้
คือ ภัยแล้งที่เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอาจกระทบภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกร การลงทุนยังกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอาจจะส่งผลกระทบการส่งออกของไทยและเศรษฐกิจไทยระยะสั้น
ส่วนระยะกลางและระยะยาวต้องพิจารณาปัจจัยการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของโลกด้วย
สำหรับสิ่งที่ต้องจับตา
คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้
เพื่อยับยั้งความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐและการเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี
จิ้นผิง ช่วงเดือนเมษายนนี้ว่าจะมีผลหรือรูปแบบการค้าการลงทุนของโลกทิศทางใด แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
จะสามารถดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจได้อย่างดี ส่วนการจัดเก็บภาษีเพิ่มในสินค้าบางประเภทอาจจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนระยะสั้น
โดยรัฐบาลควรพิจารณาความเหมาะสมของจังหวะการปรับขึ้นภาษี
นายสุทธิกร กิ่งแก้ว
ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มธ. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ
รวมถึงมาตรการกีดกันการค้ากับจีน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้านั้น
อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับมูลค่าการส่งออกของไทยให้ลดลง เนื่องจากสินค้าไทยส่งออกเป็นวัตถุดิบให้แก่จีน
กว่า 76,589 ล้านบาทต่อปี
โดยเฉพาะสินค้าประเภทยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ไม้ เคมีภัณฑ์
ยางพารา และอาหารแปรรูป
ซึ่งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยควรกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการค้าการลงทุนกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
ไปสู่การขยายการลงทุนกับประเทศขนาดเล็กที่เติบโตเร็ว เช่น
กลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เติบโตทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ยร้อยละ
6-8 ต่อปี รวมถึงอินเดียและแอฟริกา
ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นคลื่นลูกใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก .-สำนักข่าวไทย