กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5 ม.ค.-ศปถ.สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน 7 วัน เฝ้าระวังอันตราย ช่วง 29 ธ.ค.59 – 4 ม.ค.60 เกิดอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง บาดเจ็บ 4,128 คน เสียชีวิต 478 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาแล้วขับ ซึ่งรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จ.ชลบุรี มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 33 ราย ขณะที่ จ.แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง สตูล ไม่มีผู้เสียชีวิต
นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานแถลงสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ประจำปี 2560 โดยสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 340 ครั้ง บาดเจ็บ 367 คน และเสียชีวิต 52 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 33.53 ซึ่งรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 80.23 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.53 และช่วงเวลา 16.01-20.00 น.เป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 30 ทั้งนี้ได้มีการตั้งจุดตรวจหลัก 2,042 จุด เรียกตรวจยานพาหนะ 596,808 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 95,432 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี 13 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 5 ราย ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา 15 คน
นายสุธี กล่าวอีกว่า ส่วนอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560 รวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 478 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 4,128 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาสุรา ร้อยละ 36.59 ซึ่งรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 81.82 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง สตูล ส่วนจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดเชียงใหม่ เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด 152 ครั้ง ขณะที่จังหวัดชลบุรี มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 33 ราย และจังหวัดเชียงใหม่และอุดรธานี มีบาดเจ็บสะสมสูงสุด 164 คน
นายสุธี กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการคมนาคม พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560 มีปริมาณรถบนท้องถนนจำนวน 11,053,835 คัน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ 2,288,027 คัน คิดเป็นร้อยละ 26.10 จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในช่วง 7 วันอันตรายปี 2559 พบว่า เกิดอุบัติเหตุสะสมรวม 3,379 ครั้ง เสียชีวิตสะสมรวม 380 ราย บาดเจ็บสะสมรวม 3,505 คน ซึ่งสถิติในปี 2560 นั้น มียอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้น 98 ราย มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 623 คน และมีอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น 540 ครั้ง
นายสุธี กล่าวอีกว่า การสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ใช้ถนนเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียได้มาก ซึ่งจากนี้ไป ศปถ.จะคุมเข้มมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมนำจุดอ่อนของการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการเมาแล้วขับและขับรถเร็วเกินกำหนดมาหารือ เพื่อตั้งเป้าลดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อไป พร้อมกันนี้ จะนำข้อเสนอของหลายฝ่ายที่เสนอให้ใช้มาตรา 44 จับกุมและควบคุมผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับตลอดทั้งปีมาใช้ โดยไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลหรือระยะสั้น ขณะเดียวกันจากสถิติมีผู้ใช้รถบนท้องถนนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2,200,000 คัน จึงยากที่จะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีเจ้าหน้าที่กว่า 4 ล้านคนในการเฝ้าระวังและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งจากนี้ไปทุก ๆ เทศกาล จะมีการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน
นายสุธี ยังกล่าวถึงการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก ว่า มีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง โดยเบื้องต้นอาจปรับปรุง เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสามารถตรวจและเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ที่หน้าด่านได้ และแก้ไขเพิ่มค่าปรับจากผู้กระทำความผิด ทั้งจากการเมาแล้วขับ หรือฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้เพิ่มโทษหนักขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ รวมถึงเรื่องใบอนุญาตขับขี่ ได้ประสานงานไปยังกระทรวงคมนาคมให้ดูแลปรับปรุงในเรื่องนี้แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับที่เป็นอยู่ภายใต้แนวคิดเซฟตี้ไทยแลนด์.-สำนักข่าวไทย