ประจวบฯ 14 มี.ค. – นายกรัฐมนตรีห่วงเกษตรกรประสบปัญหาศัตรูพืชมะพร้าวระบาด ด้าน รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ประจวบฯ คลอด 5 มาตรการตัดวงจรระบาดในพื้นที่ก่อนลามพื้นที่อื่น พร้อมหารือเกษตรกรและหน่วยเกี่ยวข้องวางแผนแก้ปัญหายั่งยืนเสนอ ครม.พิจารณา
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหนอนหัวดำในมะพร้าว พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า ก่อนการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ได้แจ้งนายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดศัตรูพืชมะพร้าวระหว่างพักการประชุมคณะรัฐมนตรี รวมถึงแผนที่จะลงพื้นที่จังหวัดประจวบฯ เพื่อติดตามสถานการณ์ เนื่องจากพบว่ามีความรุนแรงและอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใยมาถึงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว พร้อมกำชับแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนและเกิดความยั่งยืนระยะยาว ไม่เกิดปัญหาการระบาดในอนาคต
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของหนอนหัวดำในพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ 1,240,874 ไร่ ใน 55 จังหวัด พบการระบาดของหนอนหัวดำ 28 จังหวัดพื้นที่รวม 78,954 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ โดยจำแนกการระบาดตามความรุนแรง ได้แก่ ระบาดมาก 55,077 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4 ระบาดน้อย 23,877 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2 ไม่พบการระบาด 1,161,920 ไร่ ร้อยละ 94 พื้นที่ระบาดมาก 5 อันดับ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 62,410 ไร่ สุราษฎร์ธานี 5,536 ไร่ ชลบุรี 4,024 ไร่ สมุทรสาคร 2,669 ไร่ ฉะเชิงเทรา 953 ไร่
ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ปลูก 457,285 ไร่ พบการระบาดของหนอนหัวดำทุกอำเภอ ใน 8 อำเภอ รวมพื้นที่ 62,410 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 14 จำแนกการระบาดตามความรุนแรง แบ่งเป็น ระบาดมาก 48,189 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 11 ระบาดน้อย 14,221 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ไม่พบการระบาด 394,875 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 86 ซึ่งจากการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจหากยังปล่อยให้ลุกลามจะส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของจังหวัดประมาณ 500 ล้านบาท
พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ กำหนดแนวทางการไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว 5 แนวทางหลัก คือ 1.เร่งตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายและนำมาเผา 2. พ่นด้วยเชื้อ BT 3.ปล่อยแตนเบียน 4.พ่นสารเคมีทางใบ และ 5.ฉีดสารเคมีเข้าต้นตามหลักวิชาการที่ไม่ส่งผลต่อผู้บริโภค ส่วนมาตรการสนับสนุนมาตรการการป้องกันไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ในพื้นที่เดิมอีก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหายั่งยืนอีก 4 มาตรการ คือ 1.ต้องมีการสำรวจและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 2.ควบคุมการขนย้ายผลมะพร้าว เพื่อป้องกันการระบาดข้ามพื้นที่ 3.กักกันมะพร้าวบริเวณด่านตรวจพืชและจุดผ่านแดน 4.ปลูกทดแทนสวนมะพร้าวที่มีอายุมาก แต่การยับยั้งการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่ต้องสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น ในการดูแล ควบคุมและจัดการศัตรูพืช โดยทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดประจวบฯ จะเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการระบาดในพื้นที่อื่นด้วย ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่รับฟังแนวทางแก้ไขปัญหา กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณามาตรการต่าง ๆ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร่งด่วนภายใน 2 สัปดาห์.-สำนักข่าวไทย