กทม.15 มี.ค.- ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี “จอน อึ๊งภากรณ์” กับพวก 10 คน ปีนรั้วบุกสภาค้านออกกฎหมาย ระบุพฤติการณ์ในคดียังไม่ร้ายแรง
นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กับพวกรวม 10 คน ไปศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีถูกฟ้องฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย จากกรณีบุกอาคารรัฐสภาใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจนบาดเจ็บ แล้วยังได้ร่วมกันพูดและส่งเสียงกดดันจนสมาชิกรัฐสภาต้องเลิกการประชุม สนช. ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ เมื่อวันที่12 ธันวาคม 2550
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายจอน 1 ปี 4 เดือน และคนอื่นๆ ให้จำคุกตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท แต่ทั้งหมดไม่เคยกระทำความผิด โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี แต่ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมพร้อมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยโดยเห็นว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่จำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับพิเคราะห์ อายุ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา สภาพความผิด และเหตุผลในการกระทำความผิด เห็นว่าพฤติการณ์ยังไม่ร้ายแรง จึงให้รอการกำหนดโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี
สำหรับการรอการกำหนดโทษหมายถึงศาลยังไม่ได้กำหนดโทษในคดี แต่ถ้าในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยมีพฤติการณ์ทำผิดในทำนองเดียวกัน ศาลมีอำนาจติดตามตัวกลับมาเพื่อกำหนดบทลงโทษต่อไปส่วนจำเลยทั้งหมดประกอบด้วยนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นจำเลยที่ 1 นายสาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเลยที่ 2 นายศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตร จำเลยที่ 3 นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 4 นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท จำเลยที่ 5 นายนัสเซอร์ ยีหมะ จำเลยที่ 6 นายอำนาจ พละมี จำเลยที่ 7 นายไพโรจน์ พลเพชร จำเลยที่ 8 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง จำเลยที่ 9 และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จำเลยที่ 10
นายจอน อึ้งภากรณ์ กล่าวภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษา โดยยืนยันว่า การแสดงออกครั้งนั้นเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะต่อสู้ต่อไป ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ออกมานั้น พิจารณาจากอายุ หน้าที่ การงานผลการกระทำ ที่ผ่านมา
ด้านนาวสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. หนึ่งในจำเลย กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาน่าจะมีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่ง กรรมการ กสทช.ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะต้องพิจารณาตัวเอง พร้อมกับส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายของ กสทช. ตรวจสอบว่าตอนนี้สถานะของตัวเองขัดกับคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งหรือไม่.-สำนักข่าวไทย
.-สำนักข่าวไทย