รัฐสภา 16 มี.ค.- ป.ป.ช.แถลงเปิดคดีถอดถอนอดีต รมว.ต่างประเทศ ชี้ ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้นายทักษิณ ชินวัตร ขัดต่อระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ และไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียด ขณะที่อดีต รมว.ต่างประเทศ แจง การออกหนังสือเดินทางเป็นอำนาจของปลัดกระทรวง
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนนาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีใช้อำนาจหน้าที่ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนการแถลงเปิดสำนวนคดีตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนของผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งพิจารณาประเด็นที่จะซักถามเพิ่มเติม พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า การออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้นายทักษิณครั้งนั้น ขัดต่อระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม และไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียด เพราะทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้นภายในวันเดียว นายทักษิณในขณะนั้น อยู่ในสถานะของผู้หลบหนีคดีตามที่ศาลออกหมายจับ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเห็นว่า นายสุรพงษ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และใช้อำนาจจนทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งขัดต่อจริยธรรมข้าราชการการเมือง
ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกกล่าวหา ยืนยันว่า ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และไม่ยอมให้ใครใช้อำนาจสั่งการให้ทำผิดระเบียบกฎหมายอย่างเด็ดขาด นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช.ที่พิจารณาคดีของตน ขาดคุณสมบัติ และบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาก็เป็นเอกสารเท็จ เนื่องจากในการประชุมชี้มูลแจ้งข้อกล่าวหาตน มีผู้เข้าร่วมประชุม 6 คน แต่กลับมีการลงลายมือชื่อกรรมการป.ป.ช.ถึง 9 คน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 กำหนดให้อำนาจหน้าที่เป็นของปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยแท้ของข้าราชการประจำ ไม่ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีอำนาจในการดำเนินการในเรื่องนี้ และกรณีนี้ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะกำหนดเป็นนโยบายเช่นใด นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อพิจารณาส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอเท่านั้น
“ขอยืนยันว่า การออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ ชินวัตร เป็นอำนาจของปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ และกรณีบุคคลอื่น ๆ ที่มีหมายจับและเป็นบุคคลที่ศาลหรือตำรวจต้องการตัวมาดำเนินคดี ถึงแม้ว่าจะเป็นที่รับทราบหรือรับรู้โดยทั่วกันก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้ หากศาลหรือตำรวจไม่มีหนังสือแจ้งมายังกระทรวง กระทรวงก็ไม่ดำเนินการใด ๆ และทางกระทรวงก็ไม่เคยนำเสนอเรื่องขึ้นมาให้ผมได้รับทราบหรือพิจารณาใด ๆ” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะไม่เป็นอำนาจหน้าที่ของตนแต่อย่างใด จึงถือว่าการชี้แจงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เป็นความจริง การอยู่ต่อในต่างประเทศของนายทักษิณไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศแต่อย่างใด รวมทั้งจากคำให้การของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศต่างยืนยันสอดคล้องกันว่า การออกหนังสือเดินทาง ได้ยืดถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ยึดถือกฎหมายด้วยความสุจริต
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการกล่าวหาชี้มูลของกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีการศึกษา ทำความเข้าใจในกฎระเบียบของการทำหนังสือเดินทาง กรรมการ ป.ป.ช.ไม่ยึดหลักกฎหมาย ไม่มีความเป็นธรรม หากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีจิตใจที่เป็นธรรมควรไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะมีมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนตน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสนช. มีมติตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 7 คน และกำหนดให้สมาชิก สนช.ส่งญัตติซักถาม จนถึงวันที่ 20 มีนาคมก่อนที่ประชุม สนช.จะซักถามคู่ความในวันที่ 23 มีนาคมนี้.-สำนักข่าวไทย