ก.คลัง 11 ม.ค. – กระทรวงการคลังเตรียมออกซอฟท์โลนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 3 ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ประเมินความเสียหายไม่มาก มั่นใจไม่กระทบเศรษฐกิจ
นายกฤษฎา จีนะวิจารนะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กำลังหารือกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการพิจารณามาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เบื้องต้นมีการเสนอให้นำมาตรการสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) เช่น สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูกิจการ สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 3 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (เอสเอ็มอี) และประชาชนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวงเงินสินเชื่อแต่อย่างใด เนื่องจากต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการของธนาคารแต่ละแห่ง คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้
ขณะที่ผลกระทบความเสียหายน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ยังอยู่ระหว่างประเมินภาพรวม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม หากพิจารณาจากตัวเลขความเสียหายของภาคเอกชนอยู่ที่ 10,000 – 15,000 ล้านบาท ถือว่าไม่มากและไม่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ด้านความคืบหน้าการแก้ไขหนี้นอกระบบ ด้วยการเสนอให้ผู้ที่ทำธุรกิจเงินกู้นอกระบบทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือ พิโคไฟแนนซ์ (Pico Finance) วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ขณะนี้มีผู้ประกอบการขอเข้าระบบแล้ว 15 – 16 ราย หลังจากออกไปทำความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกและขอนแก่น ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติกรรมการและผู้บริหาร คาดว่าจะอนุมัติและเริ่มปล่อยกู้เร็ว ๆ นี้ โดยจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีเจ้าหนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมาก โดยทางกระทรวงการคลังจะลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้เข้าสู่ระบบต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเข้าจดทะเบียนรับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ถ้าเอกสารครบจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 60 วัน
สำหรับการจัดเก็บรายได้ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณปี 2560 จัดเก็บได้ 552,030 ล้าน เกินที่ประมาณการไว้ 27,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้าคลัง 11,000 ล้านบาท และกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 366,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท ขณะที่กรมสรรพาสามิตจัดเก็บรายได้ 132,057 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,000 ล้านบาท และกรมศุลกากร จัดเก็บได้ 25,681 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,000 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย