กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – ตลท.จับมือสมาคมตราสารหนี้สำรวจสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี พร้อมเตือนนักลงทุนอย่าตื่นตระหนก ด้าน ก.ล.ต.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
นายสันติ กีระนันท์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีที่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน หรือบี/อี ว่า เกิดจากเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่ทุกบริษัทมีการจ่ายเงินครบเพียงแต่จ่ายคืนล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งมีความเข้าใจถึงผลกระทบเรื่องดังกล่าวอย่างดีว่า ถ้าหากไม่จ่ายเงินจะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปยากลำบาก ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนจึงไม่ต้องการให้เกิดปัญหา จึงขอให้นักลงทุนไม่ตื่นตระหนก เพราะยังไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวต้องเฝ้าระวัง จึงร่วมกับสมาคมตราสารหนี้ไทยสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ตั๋วบี/อีในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากมูลค่าตั๋วบี/อีคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่ที่3.08 ล้านล้านบาท พร้อมย้ำให้บริษัทจดทะเบียนที่จะออกตั๋วแลกเงินใช้เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องไม่ใช่เป็นการระดมทุน เพราะที่ผ่านมาบางบริษัทมีการออกตั๋วบีอี เพื่อการระดมทุน เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ หากจากระดมทุนขอให้ใช้การออกหุ้นกู้ระยะสั้น หุ้นกู้ระยะยาว และหุ้นสามัญ
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) กล่าวว่า กรณีการผิดนัดที่เกิดขึ้นแต่ละกรณีเกิดจากประเด็นเฉพาะของแต่ละบริษัท ดังจะเห็นได้ว่าบางกรณีเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างผู้บริหาร บางกรณีเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดที่มีการผิดนัดคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.03 ของจำนวนมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ในระบบทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 3.58 ล้านล้านบาท โดยเป็นตราสารหนี้ที่ไม่ได้มีการจัดอันดับเครดิต (unrated) ที่เสนอขายได้เฉพาะในวงแคบต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อยเท่านั้น ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดจึงมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งระบบและอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนในวงจำกัด
ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างติดตามสถานะอย่างต่อเนื่องและดำเนินการดังนี้ สำหรับบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ unrated ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ก.ล.ต.ได้ขอความร่วมมือให้บริษัททำการประเมินสถานะทางการเงินและติดตามสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และจัดให้มีแหล่งเงินทุนสำรองในกรณีอาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจากการไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ระยะสั้นได้
สำหรับกรณีตัวกลางทางการเงินที่เป็นให้บริการแนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ unrated และกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารดังกล่าว ก.ล.ต. กำชับให้ต้องอธิบายรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และจะต้องดำเนินการให้ผู้ลงทุนลงนามในแบบลงนามรับทราบความเสี่ยง
สำหรับกรณีบริษัทจัดการกองทุน ก.ล.ต.กำชับให้ต้องระบุในชื่อกองว่าเป็น กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย โดยให้มีข้อความอธิบายความเสี่ยงใต้ชื่อในทุกเอกสารประกอบการขาย และยังกำชับให้บริษัทจัดการกองทุนต้องจัดการลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน โดยต้องจัดให้มีระบบงานจัดการลงทุนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุน การติดต่อสื่อสารกับตัวกลางทางการเงิน ตลอดจนการติดตามดูแลผลการดำเนินงานของกองทุนที่ออกเสนอขายเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความเสี่ยงสอดคล้องกับผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายด้วย นอกจากนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับฐานะทางการเงินและความเสี่ยงที่ยอมรับได้.- สำนักข่าวไทย