ปภ. 16ม.ค.- ปลัดมหาดไทยประชุมตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ กำชับจังหวัดดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน เร่งฟื้นฟูเยียวยาให้ครอบคลุม
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่างบกปภ.ช. ส่วนกลาง ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปยังบกปภ.ช. ส่วนหน้า ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่เกี่ยวข้อง 12 สปฉ. เข้าร่วมประชุมฯ
นายกฤษฎา เปิดเผยว่า บกปภ.ช ส่วนหน้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงานว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ รวม 36 อำเภอ 189 ตำบล 1,309 หมู่บ้าน ซึ่งทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วแล้ว ประกอบกับจากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 16-20 มกราคมนี้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลกระทบในพื้นที่บางจังหวัด ได้แก่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
“ขอให้จังหวัดพื้นที่ดังกล่าว เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย และหากพื้นที่ใดมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการหรือเกินขีดความสามารถของจังหวัดในการปฏิบัติแล้ว ขอให้แจ้งบกปภ.ช.ส่วนหน้าและส่วนกลางทราบโดยด่วน เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือต่อไป” นายกฤษฎา กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือกรณีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ บกปภ.ช. จะได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่ง ไปประสานการปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และมิให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
“ได้เน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการหน่วยปฏิบัติระดับพื้นที่ ดูแลด้านการดำรงชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมเร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตให้รอบด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงประสานสาธารณสุขและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคระบาด รักษาอาการเจ็บป่วย และเยียวยาสภาพจิตใจ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูที่ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน ด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ รวมถึงด้านสิ่งสาธารณประโยชน์” นายกฤษฎา กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ส่วนกรณีพื้นที่ภัยยุติแล้ว ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่วิกฤตเพิ่มเติมจากที่ได้แจ้งไปก่อนแล้ว โดยให้ตรวจสอบว่าประชาชนที่ประสบอุทกภัยมีน้ำดื่มสะอาดเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอขอให้จังหวัดประสานผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัด สำนักงานสาธารณสุข หน่วยงานสังกัดกระทรวง ทส.หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่รวมทั้งใช้งบประมาณในอำนาจของจังหวัดจัดหาน้ำดื่มสะอาดไปแจกจ่ายประชาชนเหล่านั้น ให้จังหวัดแจ้งศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสำรวจจำนวนนักเรียน นักศึกษาและโรงเรียน สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจนไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ แล้วประสานงานหน่วยราชการอื่น ๆ ที่มีสถานที่เพื่อขอใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนทดแทน
“สำหรับยานพาหนะการรับส่งนักเรียนนักศึกษา อาจขอความร่วมมือสำนักงานขนส่งจังหวัดหรือหน่วยทหารในพื้นที่หรือภาคเอกชนสนับสนุนด้วยก็ได้ และสำหรับในพื้นที่น้ำท่วมขังเริ่มเน่าเสีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนนั้น ขอเน้นย้ำให้รีบประสานหน่วยงานชลประทาน อปท. หรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้เร่งรัดสูบน้ำเสียเหล่านั้นออกไปให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากโรคหลังน้ำท่วมด้วย” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เน้นย้ำให้จังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่และแก้ไขปัญหา พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน โดยในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้แต่ละจังหวัดมีวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 50 ล้านบาท สำหรับแก้ไขปัญหาในระยะยาว ขอให้จังหวัดและบกปภ.ช. ส่วนหน้าเตรียมความพร้อมทั้งการรวบรวมข้อมูล และการสำรวจความเสียหายเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในคราวที่จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมน้ำท่วมฯ เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือต่อไป.-สำนักข่าวไทย