กรุงเทพฯ 16 ม.ค.-คดีครูจอมทรัพย์ ตกเป็นแพะคดีขับรถชนคนเสียชีวิต และมีการยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ทำให้มีข้อเสนอควรให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายเพิ่มขึ้น
คดีอดีตข้าราชการครูถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกเมื่อปี 56 จากเหตุขับรถชนผู้อื่นเสียชีวิตที่นครพนม เหตุเกิดเมื่อปี 48 และได้รับอภัยโทษเมื่อปี 58 รวมติดคุก 1 ปี 6 เดือน แต่เธอยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และตกเป็นแพะในคดี จึงเดินหน้าเรียกร้องต่อกระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอให้รื้อคดีขึ้นมาไต่สวนใหม่ ทำให้เกิดประเด็นสงสัยจากสังคมว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาแล้ว จะสามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้หรือไม่
โฆษกศาลยุติธรรมให้ข้อมูลว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงจะพิพากษา แต่เพื่อความเป็นธรรม ยังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 สาระสำคัญคือ คดีนั้นต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งคดีครูแพะนี้ก็พิพากษาไปแล้วทั้ง 3 ศาล ถือว่าเป็นที่สุดแล้ว และผู้ร้องได้ยื่นตามหลักเกณฑ์ที่ระบุว่า มีพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงว่าไม่ได้ทำผิด เมื่อศาลเห็นว่ามีมูล จึงรับคำร้องไว้ เพื่อเปิดให้มีการไต่สวน ส่วนจะมีการสั่งให้รื้อฟื้นคดีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามพยานหลักฐาน
ด้านอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้สัมภาษณว่า สำนวนการสอบสวนคดีครูแพะที่ตำรวจส่งให้อัยการ ที่ระบุว่าครูไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน จะให้การในชั้นศาล ทำให้ไม่มีพยานหลักฐานฝ่ายผู้ต้องหาปรากฏในสำนวน จึงมีคำแนะนำว่า หากตกเป็นผู้ต้องหา และไม่ได้ทำความผิด ควรต้องให้การในชั้นสอบสวน และยื่นพยานหลักฐานทั้งหมดเข้าไปในสำนวนด้วย และตำรวจก็ต้องสอบพยานตามนั้น มิฉะนั้นจะถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อสำนวนถึงอัยการ ก็ยังสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ให้สอบสวนเพิ่มเติมได้อีก
ระหว่างปี 58 -59 ศาลยุติธรรมให้ข้อมูลว่า มีการขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่จำนวน 5 คดี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบพยาน รวมทั้งคดีครูจอมทรัพย์ ที่ศาลนัดสอบพยานต้นเดือนหน้า.-สำนักข่าวไทย