รัฐสภา 19 ม.ค. – สนช.เห็นชอบพิธีสาร 7 ระบบศุลกากรระบบศุลกากรผ่านแดน คาดกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนไทยเป็นเป็นศูนย์กลางการค้า และเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันนี้( 19 ม.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญ พิจารณาเรื่องด่วนให้ความเห็นชอบพิธีสาร 7 ระบบศุลกากรระบบศุลกากรผ่านแดน และภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพิธีสาร ภาคผนวก และร่างเอกสารดังกล่าว ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นขนส่งสินค้าผ่านแดนของตนเองได้ เว้นแต่สินค้าต้องห้ามที่ได้กำหนดไว้ในพิธีสาร
“ต้องไม่มีการเก็บภาษีใด ๆ สำหรับสินค้าที่ขนส่งผ่านแดน โดยการตรวจสอบจะกระทำได้เท่าที่มีเหตุจำเป็น ซึ่งมีหลักการให้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติพิธีศุลกากรผ่านแดนอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการผ่านแดนของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ วางหลักประกันครั้งเดียว และให้ถือว่าหลักประกันดังกล่าวมีความสมบูรณ์และบังคับใช้ไปตลอดทุกประเทศ ทุกเส้นทางการขนส่งผ่านแดน พร้อมกำหนดให้ใช้แบบสำแดงหรือเอกสารการสำแดงทางศุลกากรที่เหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาคในการขนส่งผ่านแดน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียน ยกระดับพิธีการศุลกากรให้มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากล เป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ร่างเอกสารกำหนดให้ประเทศไทยจะต้องยอมรับเฉพาะนิติบุคคลที่จะเป็นผู้ค้ำประกันการผ่านแดนภายใต้พิธีสาร 7 เท่านั้น” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
สมาชิกสนช.อภิปรายแสดงความกังวลว่าหากมีสินค้าเข้าออกภายในประเทศอย่างต่อเนื่องโดยปลอดภาษี อาจทำให้เกิดความเสียเปรียบ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เก็บค่าศุลกากร แต่ได้ประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรี ทั้งกระตุ้นฐานเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น และไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการค้า ที่สำคัญไทยมีข้อห้ามหรือขอบเขตของสินค้าที่ห้ามผ่านแดนไว้อย่างชัดเจน เพื่อปกป้องความเสียหายต่างๆที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบพิธีสาร 7 ระบบศุลกากรระบบศุลกากรผ่านแดน และภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงหลักการและเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุม สมควรแก้ไขเพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ค.ศ.1999 ที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา
สมาชิกสนช.อภิปรายสนับสนุน แต่แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความพร้อมด้านต่างๆ ในการส่งสินค้าข้ามแดน ทั้งการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศ จากทางบกลงสู่ทะเล ความพร้อมของสถานที่ให้บริการ การรักษาความปลอดภัย รวมถึงการจัดการสินค้าทางการเกษตรที่เน่าเสียง่าย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างกฎหมายนี้ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 196 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาจำนวน 15 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เป็นครั้งที่ 5 ออกไปอีก 60 วัน.-สำนักข่าวไทย