รร.ดุสิตธานี 31ม.ค.-ภาคีเครือข่ายฯ เสนอกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ยุติอุตสาหกรรมปลาป่น-ประมงด้วยเครื่องมือทำลาย-สินค้าจากประมงผิดกฎหมาย-แรงงานบังคับ หวังแก้ปัญหาไอยูยู
นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการสมาคมรักษ์ทะเลไทย แถลงข่าว บทบาทภาคธุรกิจและประชาสังคมในการแก้ปัญหาแรงงาน และสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมประมงไทย โดยระบุว่า สืบเนื่องจากอาหารทะเลไทยที่ส่งออกขายทั่วโลกยังเผชิญปัญหาแรงงานทาสที่เกิดควบคู่กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการควบคุม ขณะที่ทรัพยากรทางทะเลลดจำนวนลงมากเนื่องจากพันธุ์สัตว์น้ำถูกทำลายด้วยวิธีการประมงทำลาย อย่างเรือปั่นไฟ อวนลาก อวนรุน จนทำให้ ปี 2554 อียู จัดไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน ไร้การควบคุม(IUU Fishing)นอกจากการแก้ปัญหาจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนอย่างภาคธุรกิจที่อยู่ในฐานะทั้งผู้ซื้อและผู้ส่งออก ห่วงโซ่อุปซง อุปทานสำคัญในการกำหนดทิศทางการประมง จึงต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาปัญหาและขับเคลื่อนกลไกนโยบายและกลหมายให้เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม 14 องค์กร เข้าหารือร่วมกับ Seafood Task Force ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจด้านอาหารทะเลชั้นนำของโลก ทั้ง “ผู้ซื้อ”ในประเทศยุโรปและสหรัฐฯและ” ผู้ส่งออก”รายใหญ่ของไทย โดยได้เสนอมาตรการเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องปฏิบัติคือต้องยุติการใช้เครื่องมือและวิธีทำประมงด้วยเครื่อมือทำลายล้าง เช่นเรือปั่นไฟ อวนลาก อวนรุนและไม่จับ ไม่ใช้ ไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้รายงาน ไร้การควบคุม,พร้อมต้องทราบว่าสินค้าทะเลที่นำมาใช้ มีที่มาจากไหน จับด้วยวิธีประมงอย่างไร และเปิดเผยข้อมูลการซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบทางทะเลในธุรกิจของตนได้โดยไม่ปิดบังที่มาที่ไป
นอกจากนี้ กลุ่มภาคเอกชนต้องยุติอุตสาหกรรมปลาป่น จากปลาเล็กปลาน้อยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสำหรับสัตว์ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในการทำประมงโดยวิธีลากอวนแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่จับปลาเล็กปลาน้อยสัตว์ได้มากที่สุดกว่าร้อยละ 62 และถูกนำมาทำเป็นปลาป่นกว่า 3 ล้านตันต่อปี
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) กล่าวต่อว่า นอกจากข้อเรียกร้องข้างต้น ทางเครือข่ายยังเรียกร้องให้เอกชน ยุติการใช้แรงงานบังคับในภาคการประมง พร้อมผลัก ดันมาตรการและแนวทางปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานประมงด้วยและต้องส่งเสริมการรวมตัวของแรงงานเพื่อเพิ่มการต่อรองในการได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ภาคเอกชนควรกำหนดอัตราค่าจ้างและสวัสดิการที่เหมาะสมกับงาน กำหนดการลงอวนไม่เกิน 3 ครั้งต่อการทำงาน 24 ชั่วโมงและชดเชยค่าตอบแทนในส่วนที่ทำงานเกินด้วย .-สำนักข่าวไทย