ก.คมนาคม 7 ก.พ. – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน 15 ปี ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ปี 2560-2564 จะต้องจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ปี 2565-2569 จะขยายศูนย์ซ่อมบำรุงให้เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงในประเทศ และปี 2570-2575 จัดตั้งเมืองศูนย์กลางการบิน รองรับอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค เนื่องจากที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาการออกแบบเบื้องต้นก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งพบว่ากิจกรรมที่เหมาะสมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต้องอาศัยศักยภาพที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ โดยแผนดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และจากการศึกษาพบว่ากิจกรรมซ่อมบำรุง การผลิตชิ้นส่วนทางอากาศ และการพัฒนาบุคลากรด้านการบินไทยสามารถพัฒนาต่อเนื่องได้
“กิจกรรมซ่อมบำรุงแมนทาแน้น รีแพร์ แอนด์โอเวอร์ฮอล หรือเอ็มอาร์โอ จากผลการศึกษาแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินจะย้ายจากโซนของยุโรปและสหรัฐอเมริกามาแถบเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น เห็นได้จากการซื้อเครื่องบินในช่วง 20 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2556-2578 จากการศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศพบว่าจะมีการส่งมอบอากาศยานใหม่ 35,280 ลำ โดยปี 2556 เอเชียแปซิฟิกสั่งซื้อเครื่องบินประมาณร้อยละ 26 แต่ปี 2578 การสั่งซื้อเครื่องบินจะเพิ่มเป็นร้อยละ 36 “ นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ สายการบินในประเทศและระหว่างประเทศไทยมีความได้เปรียบการเป็นศูนย์การการบินในภูมิภาค ทำให้กระทรวงฯ พัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินในอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก โดยสนับสนุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาท่าอากาศยาน วิทยุการบินควบคู่ไปด้วย
นายอาคม กล่าวว่า การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานปัจจุบันมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศและส่งออกประมาณ 28 แห่ง เป้าหมายปี 2560-2565 จะเพิ่ม 10-20 แห่ง ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอสนับสนุนสิทธิประโยชน์การผลิตชิ้นส่วน ทำให้มีผู้ประกอบการไทยผลิตจัดตั้งโรงงาน โดยเริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กและพัฒนาถึงการผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ให้ครบวงจรและในอนาคตจะยกระดับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานไปสู่การผลิตเทียร์ 2 หรือการผลิตขั้นสูงที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ส่วนการซ่อมอากาศยานเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมและกองทัพเรือได้ศึกษาแล้วเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานอยู่ที่อู่ตะเภา พร้อมจัดตั้งศูนย์ฝึกบุคลากรด้านการบินด้วย ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือน (สบพ.) มีแผนเพิ่มหลักสูตรบุคลากรด้านการบิน ทั้งนักบิน ลูกเรือ และช่างซ่อมอากาศยาน
นายอาคม กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ยังพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่อู่ตะเภาด้วยการก่อสร้างขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 7 สร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน หรือรถไฟทางคู่ ขณะเดียวกันจะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์มากขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกหรืออีอีซี ส่วนศูนย์ซ่อมอากาศยานนั้น การบินไทยกำลังศึกษาหาผู้ร่วมลงทุน หากสำเร็จจะทำให้ไทยประหยัดเงินตราการซ่อมใหญ่ปีละ 6,500 ล้านบาท และสร้างงาน 7,600 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม แอร์บัสสนใจที่ตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.-สำนักข่าวไทย