กรุงเทพฯ 8 ก.พ. – กยท.เผยสถานการณ์ราคายางพาราปรับขึ้น-ลงเป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมหารือ 3 ภาคส่วนบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหาราคาน้ำยางสด แนะเกษตรกรกระจายความเสี่ยงปลูกพืชอื่นเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาราคายางปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากอุปทานยางในประเทศผู้ผลิตยางลดลง ขณะที่ความต้องการของผู้ประกอบการยังคงมี โดยมีหลายสาเหตุทำให้ผลผลิตลดลง ทั้งจากนโยบายชะลอการส่งออกด้วยการควบคุมปริมาณยางของ 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ในปี 2559 ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณยางหายไปจากตลาดซื้อขายโลก ประมาณ 700,000 ตัน ประกอบกับฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในภาคใต้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึงเดือนมกราคม 2560 เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถกรีดยาง ต้นยางได้รับความเสียหาย ปริมาณผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณลดลงประมาณ 300,000 – 400,000 ตัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกสนับสนุนให้ราคายางสูงขึ้น ได้แก่ ประเทศจีนเร่งซื้อยางเพื่อนำไปผลิตเป็นล้อยางส่งไปสหรัฐก่อนที่สหรัฐจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าตามนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาดในช่วงขณะนั้น ซึ่งสภาวะที่ราคายางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วถือว่าเป็นภาวะผิดปกติ ดังนั้น เมื่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังกล่าวกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ราคายางมีการปรับตัวลดลง ซึ่งถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด
ส่วนกรณีราคาน้ำยางสดที่มีความผันผวนมากนั้น เนื่องจากราคายางกำลังกลับเข้าสู่กรอบราคาตามภาวะปกติ เพราะสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย เกษตรกรสามารถกรีดยางได้ ประกอบกับช่วงนี้ของทุกปีเป็นฤดูกาลที่ต้นยางให้ผลผลิตน้ำยางมากอยู่แล้ว ดังนั้น ผลผลิตในตลาดจึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา รวมถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปีราคายางอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยราคาจะลดลง เพราะประเทศผู้ซื้อจะหยุดทำงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่รับซื้อยางพารา แรงงาน ตลอดจนระบบขนส่งต่าง ๆ อาจเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำยางสดมีการปรับราคาลงบ้าง
ทั้งนี้ กยท.เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างผู้แทนเกษตรกร ผู้ประกอบการ ซึ่งผลการหารือเป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่าย โดย กยท.จะจัดตั้งตลาดกลางน้ำยางสด เพื่อเพิ่มจุดรับซื้อ ขาย และสะท้อนราคาท้องถิ่นที่แท้จริง ซึ่งนายกสมาคมผู้ประกอบการน้ำยางท้องถิ่นยืนยันพร้อมเข้าร่วมสนับสนุน ขณะเดียวกัน กยท.จะเร่งส่งเสริมด้านแปรรูปยางพาราในพื้นที่ให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้งาน โดยริเริ่มโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งเป็นพี่เลี้ยง และรับซื้อน้ำยางสดจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เพื่อไปแปรรูปเป็นสินค้าขั้นกลาง และขั้นปลาย และ กยท.จะสนับสนุนด้านทุน และองค์ความรู้ พร้อมทั้งช่วยหาตลาด นอกจากนี้ เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานจากพืชเชิงเดี่ยว (ปลูกยางอย่างเดียว) ไปเป็นการปลูกพืชผสมผสาน หารายได้จากผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ทดแทนเรื่องยางเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญภาคเกษตรกรจะต้องส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกพืชผสมผสาน เสริมรายได้ในสวนยาง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางแก้ปัญหาแบบไตรภาคี เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย