กรุงเทพฯ 8 ก.พ. – นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะเอกชนและรัฐเดินหน้าเร่งเจรจาภายใต้กรอบอาเซียนบวก 6 หลังมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐจะประกาศใช้ ย้ำท่าที 11 ประเทศเดินหน้า TPP แม้จะไม่มีสหรัฐ ไทยควรเตรียมตัวรับมือ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ 2560 การค้าของอาเซียนและการลงทุนภาย ใต้นโยบายของทรัมป์ “อเมริกามาก่อน” จัดโดยสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นและทีดีอาร์ไอ โดยคงต้องติดตามว่านโยบายของผู้นำสหรัฐที่จะประกาศออกมาหลังจากนี้เน้นด้านกีดกันทางการค้าเพื่อเศรษฐกิจในประเทศและลดขาดดุลการค้านั้นจะกระทบตลาดการค้าทั่วโลกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ทางอ้อมไทยส่งออกไปจีนจะได้รับผลกระทบไปด้วย หากมองในแง่ดี แม้บางรายการสินค้าไทยจะได้รับผลกระทบที่สหรัฐจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่ทุ่มตลาดสหรัฐมาก แต่ก็เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐได้เอง แม้ตอนนี้ ไทยจะได้ดุลการค้ากับสหรัฐแต่ละปี 12,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ ซึ่งยังไม่ถึงเกณฑ์และเงื่อนไขการตอบโต้ทางการค้าที่กำหนดดุลการค้าไว้อยู่ที่ 20,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ จึงเป็นโอกาสที่ไทยยังสามารถขยายการส่งออกโดยตรงกับตลาดสหรัฐได้
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามว่าสหรัฐจะใช้มาตรการด้านภาษีพรมแดน หรือมาตรการกำหนดมาตรฐานสินค้าและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสังคมมาเป็นแนวทางกีดกันทางการค้าอีกหรือไม่ ภายในปีนี้และปีหน้า ดังนั้น ภาคเอกชนและรัฐบาลจะต้องเร่งปรับตัว โดยเดินหน้าเจรจาภายใต้กรอบอาเซียนบวก 6 ให้เกิดเป็นผลในรูปธรรมทางปฎิบัติ และทำการค้าภายในกลุ่มอาเซียนให้เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงเร่งหาตลาดหลักที่เป็นตลาดใหญ่พอที่จะขยายการค้า และเดินหน้าเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือการค้าเอฟทีเอหรือการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เป็นรูปธรรมกันต่อไป ขณะเดียวกันเอกชนไทยจะต้องปรับตัวทั้งผลิตสินค้าลดต้นทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ทั้งนี้ ยังมองว่าแม้สหรัฐจะประกาศมาตรการอะไรออกมาโอกาสที่นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และไทยยังจะต้องเฝ้าติดตาม แม้ว่ากรอบความร่วมมือกรณีสหรัฐถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ TPP จาก 12 ประเทศ เหลือ 11 ประเทศขณะนี้ยังประกาศเดินหน้าที่จะทำตามกรอบดังกล่าวไปก่อน เมื่อผ่านพ้นการบริหารงานของผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันไปแล้วและมีคนใหม่เข้ามาโอกาสที่กรอบดังกล่าวอาจจะกลับมาใหม่ ดังนั้น ไทยต้องเตรียมตัวเรื่องนี้ในระยะยาวต่อไป
นายนริศ ชัยสูตร ประธานบริหาร หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตการ ศึกษาเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า มาตรการที่สหรัฐประกาศออกมาจะเน้นปกป้องเศรษฐกิจในประเทศ ผลดี คือ ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตขึ้น แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่น้อยหลายด้าน คาดว่าไทยมีทั้งโอกาสและได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายของผู้นำสหรัฐได้ ดังนั้น จะต้องสร้างความเข้มแข็งภายใต้กรอบของอาเซียน เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐที่คาดว่าจะใช้มาตรการปกป้องทางการค้ากับหลายประเทศอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย