ภูเก็ต 23 ก.พ.-วันนี้เป็นวันครบกำหนดที่บังคับคดีนำหมายไปติดประกาศให้ชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต 2 ครอบครัว รื้อถอนบ้านออกจากพื้นที่ตามคำสั่งศาลฎีกา ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชาวเลราไวย์เป็นผู้แพ้คดีฟ้องร้องเรื่องการครอบครองที่ดิน โดยฝ่ายผู้ถือครองเอกสารสิทธิจะเข้ารื้อถอน แต่ถูกชาวเลเกือบ 200 คน เข้าปิดล้อม
นี่คือภาพความชุลมุนในนาทีที่ผู้ถือครองเอกสารสิทธิและเจ้าหน้าที่เตรียมเข้าไปรื้อถอนบ้านของชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต แต่กลับถูกกลุ่มชาวเลลุกฮือเข้าต้าน ไม่ยินยอมให้มีการรื้อถอน จนหวิดเกือบปะทะ สุดท้ายผู้ถือครองเอกสารสิทธิต้องยอมล่าถอย เนื่องจากหวั่นเกิดเหตุรุนแรง แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ให้ชาวเลจำนวน 2 ราย แพ้คดีและให้รื้อถอนบ้านทั้ง 2 หลัง ออกจากพื้นที่ ของนายสุเทพ มุขดี และนายทวี มุขดี ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องร้องต่อศาลชั้นต้นตั้งแต่ปี 2552
นางปวีณา นางขวัญใจ และนางจุรี บางจาก บอกว่า เธอทั้งสามคนอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้กับสมาชิกรวม 11 คน พวกเธอยืนยันว่าจะไม่ยอมย้ายออกจากบ้านหลังนี้ แม้ว่าคดีจะถึงที่สุดแล้ว และแม้ว่าการอยู่อาศัยที่นี่ต่อไปจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากครอบครัวของเธอไม่ที่อยู่อาศัยอื่นนอกจากที่นี่
ขณะที่ นายสุเทพ และนายเสทือน มุขดี เจ้าของที่ดิน ระบุว่า ที่ดินผืนนี้เป็นมรดกที่ได้รับมาจากบิดาและเป็นที่ดินเพียงชิ้นเดียวที่ตัวเองมี เนื้อที่รวม 2 งาน 73 ตาราวา เป็นโฉนดที่ออกเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2508 โดยในอดีต บิดาได้ให้ชาวเลทั้งสองราย คือ นายอานัน บางจาก และนายมะเหร็น บางจาก เข้ามาปลูกบ้านอาศัยอยู่ชั่วคราว มีการทำสัญญาเป็นรายปี ปีละ 1,000 บาท แต่บิดาไม่เคยรับเงินค่าเช่าจากชาวเลทั้ง 2 ราย เนื่องจากเห็นใจ ยืนยันตนเองเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เดือดร้อน ไม่ใช่กลุ่มนายทุนแต่อย่างใด
ขณะที่ นายชโนทัย สุขเพ็ญ เจ้าหน้าที่บังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า การเข้ารื้อถอนบ้านทั้งหลังในวันนี้ ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการนำหมายบังคับคดีมาแจ้งให้ชาวเลทั้ง 2 ครอบครัวทราบตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถรื้อได้ในวันนี้ เจ้าของที่ดินก็สามารถเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ขัดขวางได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวเลหาดราไวย์กับผู้อ้างการถือครองเอกสารสิทธิ ซึ่งหลายครั้งผู้ถือครองเอกสารสิทธิถูกมองว่าคือกลุ่มนายทุน หากแต่ครั้งนี้ผู้ถือครองเอกสารสิทธิอย่างชอบธรรมคือ ชาวบ้านที่ต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมายเป็นเวลา 8 ปี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของผู้คับใช้กฎหมายไทย.-สำนักข่าวไทย